เรื่องเวียนว่ายตายเกิดมีจริงหรือ

 
natpe
วันที่  14 ธ.ค. 2548
หมายเลข  589
อ่าน  5,796

พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิดจริงๆ หรือครับ พระไตรปิฎกในประเทศไทยแปลไม่ตรงกับของประเทศอินเดียเลยหล่ะครับ บางคำในพระไตรปิฎกของไทยไม่มีอ่ะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระพุทธองค์แสดงสัจจธรรมที่เป็นเหตุผล เมื่อมีเหตุ ต้องมีผลเกิดขึ้น ทรงแสดงจิตเจตสิกที่เป็นเหตุ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมจึงมีผลนำเกิดในภพภูมิต่างๆ ตามกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ 506

๑. ติณกัฏฐสูตร

ว่าด้วยที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายของสงสาร

[๔๒๑] ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

[๔๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ 508

๒. ปฐวีสูตร

ว่าด้วยการกำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายของสงสาร

[๔๒๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ.

[๔๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเมล็ดกระเบา แล้ววางไว้ สมมติว่า นี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเรา โดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ 509

๓. อัสสุสูตร

ว่าด้วยเปรียบน้ำตากับน้ำในมหาสมุทร

[๔๒๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน.

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

[๔๒๖] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ฯลฯ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา.. ของพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว.. ของบุตร.. ของธิดา.. ความเสื่อมแห่งญาติ.. ความเสื่อมแห่งโภคะ.. ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งออกของพวกเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจาก

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก รวมเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดเป็นองค์ ๙ คือ

สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรต่างๆ มีมงคลสูตรเป็นต้น

เคยยะ คือ พระสูตรที่ประกอบไปด้วยคาถาทั้งหมด

เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธ-วจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในองค์ ๘ ได้ชื่อว่าเวยยากรณะทั้งหมด

คาถา คือ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต

อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ

อิติวุตตกะ คือ พระสูตร ๑๐๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

ชาดก เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีอปัณณกชาดกเป็นต้น มีทั้งหมด ๕๕๐

อัพภูตธรรม คือ พระสูตรที่ปฏิสังยุตด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด

เวทัลละ คือ ระเบียบคำที่ผู้ถามได้ความรู้แจ้ง และความยินดี แล้วถามต่อๆ ขึ้นไป ดังจูฬเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร และสักกปัญหสูตร เป็นต้น

พระพุทธวจนะเหล่านี้ โดยสภาพแห่งธรรมแล้ว เป็นสัจธรรมที่ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้งรู้ได้ยาก รู้ตามเห็นตามได้ยาก สงบประณีต ไม่อาจจะรู้ได้ด้วยการตรึก ละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตจะรู้ได้ เพราะสภาพ และพยัญชนะ เพื่อให้สามารถหยั่งรู้ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

เนื่องจากพื้นเพอัธยาศัยของคนแตกต่างกันในด้านต่างๆ ซึ่งทรงอุปมาไว้เหมือนดอกบัว ๔ เหล่า พระพุทธเจ้าจึงทรงมีวิธีในการแสดงธรรม ตามอาการสอนธรรมของพระองค์ ๓ ประการ คือ

๑. ทรงสอนให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

๒. ทรงแสดงธรรมมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

๓. ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แต่เพราะพระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ทรงฉลาดในโวหารเพราะทรงเป็นเจ้าแห่งธรรม ก่อนจะทรงแสดงธรรมแก่ใคร ทรงตรวจสอบภูมิหลังด้านต่างๆ ของคนเหล่านั้นด้วยพระญาณแล้ว ผลจากการฟังในพุทธสำนึกจึงไม่มีปัญหาว่า คนฟังจะไม่เข้าใจ ผลจากการฟังธรรมสมัยพุทธกาลจึงมีความอัศจรรย์

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ทรงตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ธรรมที่ทรงแสดงไว้ยังเป็นเช่นเดิม แต่ระดับสติปัญญา บารมี ความสนใจในธรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การตีความพระธรรมวินัยตามความเข้าใจของตนเองเกิดขึ้น จนทำให้สูญเสียความเสมอกันในด้านศีล และทิฏฐิครั้งแล้วครั้งเล่า บางสมัยเกิดแตกแยกกันเป็นนิกายต่างๆ ถึง ๑๘ นิกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

พระอรรถกถาจารย์ผู้ทราบพุทธาธิบาย ทั้งโดยอรรถะและพยัญชนะแห่งพระพุทธวจนะ เพราะการศึกษาจำต้องสืบต่อกันมาตามลำดับ มีฉันทะอุตสาหะอย่างสูงมาก ได้อรรถาธิบายพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ส่วนที่ยากแก่การเข้าใจ ให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับผู้ศึกษา และปฏิบัติ ความสำคัญแห่งคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาจึงมีลดหลั่นกันลงมา คือ

๑. พระสูตร คือ พระพุทธวจนะที่เรียกว่า พระไตรปิฎก ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

๒. สุตตานุโลม คือ พระคัมภีร์ที่พระอรรถกถาจารย์รจนาขึ้น อธิบายข้อความที่ยากในพระไตรปิฎก

๓. อาจริยวาท วาทะของอาจารย์ต่างๆ ตั้งแต่ชั้นฎีกาอนุฎีกา และบุรพาจารย์ในรุ่นหลัง

๔. อัตโนมติ ความคิดเห็นของผู้พูด ผู้แสดงธรรมในพระพุทธศาสนา

ในกาลต่อมา มีการอธิบายธรรมประเภทอาจริยวาท คือ ถือตามที่อาจารย์ของตนสอนไว้ กับอัตโนมติ ว่าไปตามมติของตนกันมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เป็นหลักสำคัญ คือ พระไตรปิฎก และอรรถกถามีไม่แพร่หลาย อรรถกถาส่วนมากยังเป็นภาษาบาลี คนมีฉันทะในภาษาบาลีน้อยลง สำนวนภาษาบาลีที่แปลออกมาแล้วยากต่อการทำความเข้าใจของคนที่ไม่ได้ศึกษามาก่อน ขาดกัลยาณมิตรที่เป็นสัตบุรุษในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

การอธิบายธรรมที่เป็นผลจากการตรัสรู้ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นอันตรายมาก เพราะโอกาสที่จะเข้าใจผิด พูดผิด ปฏิบัติผิดมีได้ง่าย พระไตรปิฎกเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั่วไปจะขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ฉันใด การอธิบายธรรมขัดแย้งกับพระไตรปิฎกพุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมถือว่าทำไม่ได้เช่นเดียวกันฉันนั้นเพื่อให้พระพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎก แพร่หลายออกมาในรูปภาษาไทย และให้เกิดความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา ตรงตามหลักที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ จะได้เกิดทิฏฐิสามัญญตา ความเสมอกันในด้านทิฏฐิ และ สีลสามัญญตา ความเสมอกันในด้านศีล ของชาวพุทธทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีการแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 15 ธ.ค. 2548

บ้านธัมมะเห็นว่า งานแปลพระไตรปิฎก และอรรถกถา ของมหามกุฎราชวิทยาลัยคงอำนวยประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณร ท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในหลักธรรม และคงเป็นถาวรกรรมอันอำนวยประโยชน์ได้นานแสนนาน

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 25 พ.ย. 2549

คุณ natpe ขออณุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่ะ พิจารณาจากสิ่งที่เราได้รับในชาตินี้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล อาจารย์สุจินต์เคยตอบปัญหาถึงเรื่องขุมนรกประเภทต่างๆ ว่า มีจริงหรือไม่ และเรื่องเศษกรรม มีมีดบาด น้ำมันร้อนๆ กระเด็นใส่ น้ำร้อนลวก ดิฉันนึกเลยไปถึงการ เดินเหยียบโดนปฏิกูลเน่าเหม็น ความทุกข์กาย ทุกข์ใจในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

ดิฉันพิจารณาตาม และกลับมาพิจารณาตัวของตัวเอง เห็นได้ชัดว่า ตัวเองคงเคยทำกรรมฝ่ายอกุศลไว้หลายแบบ และคงเคยได้รับผลกรรมในนรกขุมต่างๆ มาแล้ว ก่อนจะมารับเศษกรรมในชาตินี้ต่อไป ส่วนการได้เห็น ได้ยิน ได้รับสิ่งที่ยินดีพอใจ และได้รับความสุขความพอใจในรูปแบบต่างๆ อยู่เนืองๆ นั้น ก็เป็นผลของกุศล

การมีโอกาสได้มาศึกษาพระธรรมก็เช่นกัน เกิดจากการสั่งสมกุศลกรรมมาก่อน อย่างนี้คุณควรเชื่อหรือเปล่าว่า ชาติก่อนมีจริง ชาติหน้ามีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริงสังสารวัฏฏ์ฎ์น่ากลัว และเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทั้งหมดเพื่อความไม่ประมาทพลาดพลั้งกับชีวิตในชาติปัจจุบันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pamali
วันที่ 1 พ.ย. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
คุณจิต
วันที่ 17 ก.พ. 2559

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ