การเจริญสมถภาวนา จนจิตสงบจากอกุศลธรรม
การเจริญสมถภาวนาจนจิตสงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายถึงขั้นอรูปฌานนั้นเป็นจิตที่มีกำลังสามารถฝึกให้เป็นประโยชน์ตามความประสงค์ได้ เช่น ระลึกชาติได้ อธิษฐานให้เกิดทิพจักขุ เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลหรือมีสิ่งกำบังได้ อธิษฐานให้เกิดโสตทิพ ได้ยินเสียงต่างๆ ทั้งที่ใกล้ ที่ไกลได้ กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น เดินบนน้ำ ไปในดิน เหาะไปในอากาศและเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ เป็นต้น
แต่การจะฝึกอบรมให้เกิดคุณวิเศษแต่ละอย่างนี้ จะต้องเป็นผู้สามารถในกสิณทุกกสิณ และฌานสมาบัติทั้ง ๘ (รูปฌาน ๔ โดยจตุกกนัยและอรูปฌาณ ๔) อย่างยอดเยี่ยมและต้องฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ คือ
๑. กสิณานุโลมโต เข้าฌานตามลำดับกสิณ
๒. กสิณปฏิโลมโต เข้าฌานย้อนกสิณ
๓. กสิณานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วย้อนกสิณ
๔. ฌานานุโลมโต เข้าฌานตามลำดับฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
๕. ฌานปฏิโลมโต เข้าฌานโดยย้อนฌานตามลำดับ ตั้งแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานถึงปฐมฌาน
๖. ฌานานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานตามลำดับฌาน แล้วย้อนฌานตามลำดับ
๗. ฌานานุกกนตกโต เข้าฌานโดยข้ามฌาน แต่ไม่ข้ามกสิณ
๘. กสิณุกกนตกโต เข้าฌานโดยข้ามกสิณ แต่ไม่ข้ามฌาน
๙. ฌานกสิณุกกนตกโต เข้าฌานโดยข้ามฌาน และข้ามกสิณ
๑๐. องคสงกนติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงองค์
๑๑. อารมมณสงกนติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงอารมณ์
๑๒. องคารมมณสงกนติโต เข้าฌานโดยก้าวล่วงทั้งองค์และทั้งอารมณ์
๑๓. องควฏฐาปนโต เข้าฌานโดยกำหนดองค์ของฌานแต่ละฌาน
๑๔. อารมมณววฏฐาปนโต เข้าฌานโดยกำหนดอารมณ์ของฌานแต่ละฌาน