พระไตรปิฎกคืออะไร

 
nee
วันที่  22 ธ.ค. 2548
หมายเลข  605
อ่าน  34,045

1. ช่วยอธิบาย พระไตรปิฎกหมายความว่าอย่างไร

2. จำเป็นไหมที่เราจะต้องศึกษาธรรมจากพระไตรปิฎก

3. พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เกื้อกูลกับสติปัฎฐานอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 24 ธ.ค. 2548

พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์หรือตำราที่จารึกหลักธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งพระสาวกได้ศึกษาสืบทอดมา ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน พุทธบริษัทควรศึกษาพระไตรปิฎกโดยตรง และควรศึกษาอรรถกถา ที่อธิบายเนื้อความของพระไตรปิฎก เพื่อเป็นหลักในการตรวจสอบข้อปฏิบัติของเราว่า ตรงกับคำสอนหรือไม่ ถ้าไม่ตรงไม่ควรถือเอา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2548

2. จำเป็นไหมที่เราจะต้องศึกษาธรรมจากกพระไตรปิฎก

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรมรู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ เป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ

ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัย จึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งเป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติและขั้นปฏิเวธ เป็นลำดับไป

พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค คือ พระธรรมวินัยแบ่งเป็น ๓ ปิฏก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2548

3. พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม เกื้อกูลกับสติปัฎฐานอย่างไร

ธรรมที่ได้ฟังหรืออ่านทั้ง ๓ ปิฎก รวมทั้งอรรกถาและฎีกา ก็เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปรกติตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะฟังมาก เรียนมาก สนทนาธรรมมาก ตรึกตรองธรรมมากสักเท่าไร ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏจริงๆ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาในแต่ละวันที่ผ่านไปๆ ซึ่งก็เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว

ทุกคนรู้ว่าอดีตที่สนุกสนาน หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ดับหมดไปแล้วคงเหลืออยู่แต่ปัจจุบันขณะนี้ขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล การประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรมจะพรากจากการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ความทรงจำที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมประเภทหนึ่งเท่านั้น สติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนปัญญาประจักษ์แจ้งสภาพธรรมจึงพรากจากความเป็นตัวตน เป็นบุคคล เมื่อประจักษ์ลักษณะที่เป็นขณิกมรณะของสภาพธรรมทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2548

พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก รวมเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดเป็นองค์ ๙ คือ

สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรต่างๆ มีมงคลสูตร เป็นต้น

เคยยะ คือ พระสูตรที่ประกอบไปด้วยคาถาทั้งหมด

เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธวจนะที่ไม่ได้ จัดเข้าในองค์ ๘ ได้ชื่อว่าเวยยากรณะทั้งหมด

คาถา คือ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต

อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ

อิติวุตตกะ คือ พระสูตร ๑๐๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

ชาดก เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีอปัณณกชาดกเป็นต้น มีทั้งหมด ๕๕๐

อัพภูตธรรม คือ พระสูตรที่ปฏิสังยุตด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด

เวทัลละ คือ ระเบียบคำที่ผู้ถามได้ความรู้แจ้งและความยินดี แล้วถามต่อๆ ขึ้นไป ดังจูฬเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร และสักกปัญหสูตร เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2548

พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก โดยสภาพแห่งธรรมแล้ว เป็นสัจธรรมที่ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้งรู้ได้ยาก รู้ตามเห็นตามได้ยาก สงบประณีต ไม่อาจจะรู้ได้ด้วยการตรึก ละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตจะรู้ได้ เพราะสภาวะแห่งธรรมมีลักษณะดังกล่าว จึงจำต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ ทั้งโดยอรรถะ และพยัญชนะ เพื่อให้สามารถหยั่งรู้ธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 25 ธ.ค. 2548

เนื่องจากพื้นเพอัธยาศัยของคนแตกต่างกันในด้านต่างๆ ซึ่งทรงอุปมาไว้เหมือนดอกบัว ๔ เหล่า พระพุทธเจ้าจึงทรงมีวิธีในการแสดงธรรม ตามอาการสอนธรรมของพระองค์ ๓ ประการ คือ

๑. ทรงสอนให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

๒. ทรงแสดงธรรมมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

๓. ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แต่เพราะพระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ทรงฉลาดในโวหารเพราะทรงเป็นเจ้าแห่งธรรม ก่อนจะทรงแสดงธรรมแก่ใคร ทรงตรวจสอบภูมิหลังด้านต่างๆ ของคนเหล่านั้นด้วยพระญาณแล้ว ผลจากการฟังในพุทธสำนึกจึงไม่มีปัญหาว่า คนฟังจะไม่เข้าใจ ผลจากการฟังธรรมสมัยพุทธกาลจึงมีความอัศจรรย์ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ทรงตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทพระองค์ ธรรมที่ทรงแสดงไว้ยังเป็นเช่นเดิม แต่ระดับสติปัญญา บารมี ความสนใจในธรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การตีความพระธรรมวินัยตามความเข้าใจของตนเองเกิดขึ้น จนทำให้สูญเสียความเสมอกันในด้านศีล และทิฏฐิครั้งแล้วครั้งเล่า บางสมัยเกิดแตกแยกกันเป็นนิกายต่างๆ ถึง ๑๘ นิกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ธ.ค. 2548

พระอรรถกถาจารย์ผู้ทราบพุทธาธิบาย ทั้งโดยอรรถะ และพยัญชนะแห่งพระพุทธวจนะ เพราะการศึกษาจำต้องสืบต่อกันมาตามลำดับ มีฉันทะอุตสาหะอย่างสูงมาก ได้อรรถาธิบายพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ส่วนที่ยากแก่การเข้าใจ ให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับผู้ศึกษา และปฏิบัติ ความสำคัญแห่งคัมภีร์ในพระพุทศาสนาจึงมีลดหลั่นกันลงมา คือ

๑. พระสูตร คือ พระพุทธวจนะที่เรียกว่า พระไตรปิฎกทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

๒. สุตตานุโลม คือ พระคัมภีร์ที่พระอรรถกถาจารย์รจนาขึ้น อธิบายข้อความที่ยากในพระไตรปิฎก

๓. อาจริยวาท วาทะของอาจารย์ต่างๆ ตั้งแต่ชั้นฎีกาอนุฎีกา และบุรพาจารย์ในรุ่นหลัง

๔. อัตโนมติ ความคิดเห็นของผู้พูด ผู้แสดงธรรมในพระพุทธศาสนา

ในกาลต่อมา มีการอธิบายธรรมประเภทอาจริยวาท คือ ถือตามที่อาจารย์ของตนสอนไว้กับอัตโนมติ ว่าไปตามมติของตนกันมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เป็นหลักสำคัญ คือ พระไตรปิฎก และอรรถกถามีไม่แพร่หลาย อรรถกถาส่วนมากยังเป็นภาษาบาลี คนมีฉันทะในภาษาบาลีน้อยลง สำนวนภาษาบาลีที่แปลออกมาแล้ว ยากต่อการทำความเข้าใจของคนที่ไม่ได้ศึกษามาก่อน ขาดกัลยาณมิตรที่เป็นสัตบุรุษในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ธ.ค. 2548

การอธิบายธรรมที่เป็นผลจากการตรัสรู้ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นอันตรายมาก เพราะโอกาสที่จะเข้าใจผิด พูดผิด ปฏิบัติผิดมีได้ง่าย พระไตรปิฎกเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั่วไปจะขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ฉันใด การอธิบายธรรมขัดแย้งกับพระไตรปิฎก พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมถือว่าทำไม่ได้เช่นเดียวกันฉันนั้น

เพื่อให้พระพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎก แพร่หลายออกมาในรูปภาษาไทย และให้เกิดความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา ตรงตามหลักที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้จะได้เกิดทิฏฐิสามัญญตาความเสมอกันในด้านทิฏฐิ และ สีลสามัญญตา ความเสมอกันในด้านศีลของชาวพุทธ ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีการแปลพระไตรปิฎก และอรรถกถาขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 ธ.ค. 2548

บ้านธัมมะเห็นว่า งานแปลพระไตรปิฎก และอรรถกถา ของมหามกุฎราชวิทยาลัยคงอำนวยประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณร ท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในหลักธรรม และคงเป็นถาวรกรรมอันอำนวยประโยชน์ได้นานแสนนาน

เว็บไซต์บ้านธัมมะ จึงได้นำเสนอพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยท่านผู้ชมสามารถ download พระไตรปิฎกและอรรถกถาไว้อ่าน ทั้งชุด 91 เล่มขณะนี้มีบัญชีเรื่องสำหรับแต่ละเล่ม และระบบสืบค้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา

ขอเชิญท่านผู้ชมศึกษาพระธรมได้จากพระไตรปิฏก....

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
suwit02
วันที่ 14 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนา บ้านธัมมะ และท่านทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่พระสัทธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pornpaon
วันที่ 19 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
anong55
วันที่ 22 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ปาน
วันที่ 3 ก.พ. 2557

ขอขอบคุณบ้านธัมมะที่เผยแพร่พุทธศาสนาในการศึกษาให้ความเข้าใจธรรมะมากขึ้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
kullawat
วันที่ 4 ก.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 23 เม.ย. 2564

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
Kalaya
วันที่ 29 ธ.ค. 2565

กราบขอบพระคุณกราบอนุโมทนาคณะทีมงานและผู้นำพระไตรปิฎกขึ้นนเผยแพร่บนเวบไซต์แล้วยังมีการอธิบายโดยละเอียด อธิบายคำถามของผู้ถาม เนื่องด้วยในประเทศไทยวัดได้เก็บหนังสือพระไตรปิฎกไว้มิดชิดอย่างดี ประชาชน เยาวชนจึงไม่ได้รับคำอธิบายสิ่งที่เป็นคำสอน ที่ควรยึดเหนี่ยวในจิต มาเป็นพื้นฐานตั้งแต่วัยเยาว์ จึงสายไปๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว

กราบอนุโมทนาที่คนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเมื่อสนใจแล้วและได้รับคำแนะนำ จากอาจารย์ชุมพร ตัณตยานนท์กุล ครั้งวันที่ 17-18 ตค. 2565 ณ บ้านธัมมะภาคเหนือ เพื่อเกิดการสะสมและสืบทอดคำสอนที่ถูกและจริงตามสภาพธรรมะ ตามการตรัสรู้ในพระไตรปิฎกค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ