การที่ภิกษุรับบิณฑบาต จนเต็มบาตร
การที่ภิกษุรับบิณฑบาต จนเต็มบาตร และหิ้วถุงอาหารพะลุงพะลังเนื่องจากอาหารล้นบาตรนั้น มีสิกขาบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หรือไม่ อย่างไรบ้างครับ
พระบัญญัติ เรื่องการรับอาหารของพระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎก เสขิยวัตรสิกขาบทโภชนปฏิสังยุตต์ ขัมภกตวรรค สิขาบทที่ ๑๐ ว่า ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจะรับบิณฑบาตเพียงเสมอขอบบาตร ถ้าภิกษุไม่เอื้อเฟื้อรับเกิน หิ้วถุงพะลุงพะลัง เป็นอาบัติ และดูไม่น่าเลื่อมใส เป็นคนมักมาก
ตามพระวินัยพระภิกษุมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธในการรับอาหารบิณฑบาตร เมื่อท่านรับเพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ถ้าท่านรับเกินขอบบาตรเป็นอาบัติ การปฏิเสธไม่เป็นอาบัติ ส่วนการทำศรัทธาใครให้ตกไปคือ การให้อาหารบิณฑบาตรแก่คฤหัสถ์ก่อนตนฉัน ไม่ใช่การปฏิเสธ โปรดตรวจสอบในพระวินัย
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 492
โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔ ..
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 492
โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔
พระบัญญัติ
๘๓. ๔. อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั่น
สิกขาบทวิภังค์
[๔๙๖] คำว่า อนึ่ง . . เฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ความว่า ที่ชื่อว่า ตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร
บทว่า ผู้เข้าไป คือ ผู้เข้าไปในตระกูลนั้น ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล
ที่ชื่อว่า สัตตุผง ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นเสบียง
คำว่า เขาปวารณา เพื่อนำไปได้ตามปรารถนาคือ เขาปวารณาไว้ว่า ท่านประสงค์เท่าใด จงรับไปเท่านั้น
บทว่า ผู้ต้องการ คือ ผู้อยากได้
บทว่า พึงรับได้เต็ม ๒ - ๓ บาตร ความว่า พึงรับได้เต็ม ๒ บาตร ๓ บาตร คำว่า ถ้ารับยิ่งกว่านั้น ความว่า รับเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ออกจากที่นั้นไปพบภิกษุแล้วพึงบอกว่า ณ สถานที่โน้น กระผมรับเต็ม ๒ - ๓ บาตรแล้วท่านอย่ารับ ณ ที่นั้นเลยถ้าพบแล้วไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าเมื่อบอกแล้ว ภิกษุผู้รับบอกยังขืนรับต้องอาบัติทุกกฏ คำว่า นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งบันกับภิกษุทั้งหลาย คือนำไปสู่โรงฉันแล้ว พึงแบ่งปันกัน
บทว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น หมายความว่า นี้เป็นการถูกต้องตามธรรมเนียมในเรื่องนั้น