สติ สมาธิ และภาวนาต่างกันอย่างไร
ถ้าสติเกิดระลึก แต่ถ้าไม่รู้เลยว่าสติมีลักษณะอย่างไร ขณะที่จดจ้อง เข้าใจว่ากำลังเป็นสติ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ
สมาธิมี ๒ อย่างคือ สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ แต่ว่าถ้าไม่มีการศึกษาแล้วได้ยินคำว่า “สมาธิ” ก็สนใจทันที อยากจะทำสมาธิ เพราะว่าคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่วุ่นวาย ก็เลยไม่ชอบที่จะเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คิดว่า ถ้าไม่ต้องไปวุ่นวาย และให้จิตไม่ไปไหน ขณะนั้นก็เป็นความสบาย เป็นความพอใจในความสบาย ก็ทำเพื่อต้องการที่จะให้ใจสบาย แต่ไม่มีปัญญา
แต่สำหรับภาวนา โดยศัพท์ หมายความว่า อบรม “อบรม” ต้องมีปัญญาจึงจะอบรมได้ ไม่ใช่เป็นการไปทำด้วยความไม่รู้และยังคงเป็นความต้องการทำ เพราะคิดว่าได้บุญ
ภาวนามี ๒ อย่างคือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
สมถะ คือความสงบจากอกุศล สำหรับวิปัสสนาภาวนา เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้ สภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นสติปัฏฐาน
ในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่อง “รู้แล้วละ” เพราะว่าการละไม่ใช่หน้าที่ของโลภะ ไม่ใช่หน้าที่ของอกุศล แต่การละเป็นหน้าที่ของปัญญาเจตสิก ซึ่งรู้ความจริง จึงจะละได้ ละความติดข้องได้ เพราะฉะนั้น ที่ใดที่มีโลภะ ที่นั้นจะไม่มีปัญญา แต่ที่ใดที่มีปัญญา ที่นั้นมีโลภะไม่ได้ จะไม่มีความอยากไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ใช่เป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบ ถ้าเป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ
พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เกื้อกูลพุทธบริษัทตั้งแต่สมัยโน้น จนกระทั่งถึงกาลสมัยนี้ ๒๕๐๐ กว่าปี แสดงให้เห็นว่า ความละเอียดของพระธรรมป้องกันความเห็นผิดทุกอย่างแต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะใดเห็นถูก ขณะใดเป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ขณะใดเป็นสัมมามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติก็จะมี ๕ องค์ นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยที่ว่าไม่เอาสมาธิมาเป็นสติ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด แล้วก็ไม่ผ่านพยัญชนะใด โดยที่คิดว่า เข้าใจถูกต้องแล้ว อย่างคำว่า “มิจฉาสมาธิ” มีในพระไตรปิฎก “สัมมาสมาธิ” ก็มี “มิจฉามรรค” ก็มี “สัมมามรรค” ก็มี แต่ถ้าไม่ศึกษา เข้าใจว่า “สมาธิ” แล้วดีทั้งนั้น เป็นสัมมาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ความถูกต้อง