คนตาบอดรู้อ่อนแข็ง จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏหรือไม่
ภิ. อย่างสมมติว่า คนตาบอดไม่รู้ถึงสีสันวรรณะ แต่คนตาบอดสามารถสัมผัสกลิ่นไอ ร้อน อ่อน แข็งได้ อย่างนี้ถือว่ารู้จักสภาวธรรม หรือสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องหรือไม่
อ. ทุกคนกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ถามใครๆ ก็บอกว่า แข็ง ถามเด็ก เด็กบอกว่าแข็ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจอรรถของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ใช้คำว่า “ปัญญา” แล้วจะมีชื่ออีกหลายชื่อ สำหรับสภาพธรรมที่มีความเห็นถูกตามลำดับขั้นด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจคำว่า “ปัญญาเจตสิก” ไม่ใช่ปัญญาทางโลก ซึ่งเราสามารถจะศึกษาวิชาการทางโลก ซึ่งไม่ได้รู้ตัวจริงของธรรมเลย เป็นแต่เพียงความทรงจำเรื่องราวของธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วแล้วก็ถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นวิชาการสาขาใดๆ ทั้งสิ้น เช่น วิชาการแพทย์ ก็จะมีการทรงจำในรูปร่างสัณฐานของรูปธรรม สีสันวรรณะที่ต่างกัน บัญญัติว่าเป็นหัวใจ ตับ ปอด ม้าม เป็นต้น
แต่ลักษณะแท้ๆ สิ่งนั้นปรากฏเมื่อไร ถ้ามีจักขุปสาท สีสันวรรณะเท่านั้นปรากฏ ถ้ากระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้นปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจริงๆ ปรากฏ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้นทีละอย่าง อย่างรวดเร็ว เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จะเกิดในคนหนึ่งซ้อนกัน ๑๐ ขณะ หรือ ๑๐ ประเภท หลายๆ ดวงนั้นไม่ได้ แต่ว่าคนหนึ่งๆ จะมีธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้แต่ทางใจซึ่งคิดนึก ก็ต้องคิดทีละคำ
เพราะฉะนั้น จิตของแต่ละคนก็จะมีทีละหนึ่งขณะ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง จิตไม่จำ จิตไม่สุข จิตไม่ทุกข์ ความสุข ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งโดยศัพท์ เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดกับจิต รู้อารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้อย่างเดียวกับจิต คือจิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทราบการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสภาพธรรม แล้วก็รู้ว่าตัวจริงๆ ของธรรมแต่ละขณะนั้นมีอะไรบ้าง รู้อารมณ์ทางไหนบ้าง ส่วนเรื่องราวทางโลกที่บอกว่าคนนั้นมีปัญญา ก็เป็นแต่เพียงทรงจำเรื่องราวโดยไม่รู้สภาพธรรม
เพราะฉะนั้น วิชาการทางโลก ซึ่งมีผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ถ้าเป็นปัญญาเจตสิก คือ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถูกต้องตามลำดับขั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเจตสิก