ความหมายของคำว่า เหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมีจริง
ภิ. อยากให้อาจารย์ อธิบายถึงความหมายของคำว่า “เหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมีจริง”เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อผู้ปฏิบัติสืบไป เพื่อเข้ากระบวนการสติปัฏฐาน
อ. ต้องทราบว่า ความจริงแท้ที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่างคำว่า “ปรมัตถธรรม” มาจากคำว่า ปรม+อัตถ ลักษณะอัตถของสิ่งนั้นเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ สภาพธรรมที่มีจริงในโลก นอกโลก ในจักรวาลทั้งหมด จะพ้นไปจากจิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ และปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือนิพพาน แต่นิพพานไม่เกิด ตรงกันข้ามกับจิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้น ถ้ารู้แก่นของธรรม คือตัวธรรมจริงๆ ว่าเป็นสภาพที่มีจริงใครๆ ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ จึงเป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นธรรมที่ทรงแสดงไว้ ที่ประมวลไว้เป็นอภิธรรมปิฎกหมายความว่า กล่าวถึงสภาพธรรมล้วนๆ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ เช่น แข็ง เวลาที่มีการกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ลักษณะแข็งปรากฏ ถ้าลักษณะนั้นแข็ง จะเปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเวลากระทบแล้วเย็น ก็ไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนลักษณะที่เย็นให้เป็นแข็ง หรือว่าให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่แสดงว่าสภาพธรรม ธรรมเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้เลย แล้วก็สภาพธรรม ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ใน ๓ อย่างนี้ ก็แบ่งออกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม เพราะว่า จิต เจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่เกิดแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ส่วนรูปธรรมเกิดแต่ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ต้องเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม จึงสามารถที่จะอบรมปัญญาให้รู้ความจริงของธรรมได้