เมื่อไรจึงจะไม่ยึดถือสภาพธรรม เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมุททวรรคที่ ๓
อุทายีสูตร
มีข้อความว่า ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
[๓๐๐] “ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรัง ในป่านั้นพึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออกแม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นไม้ ฉันใด ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้น เหมือนกัน เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรนเมื่อไม่ดิ้นรนก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”
ข้อความตอนท้ายที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
“ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ถือเอาขวานอันคมเข้าสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรัง ในป่านั้น”
เมื่อเป็นต้นกล้วยก็ยังเป็นท่าทางเพราะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน “พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก” คือ ต้องเพิกถอนสิ่งที่เคยยึดถือรวมกันประชุมกันเป็นวัตถุ เป็นตัวตน เป็นท่าทางออก “แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้” จึงจะละการยึดถือว่าเป็นต้นกล้วย เช่นเดียวกับโคทั้งตัว ถ้ายังไม่ลอกหนังออก ไม่ตัดชิ้นส่วนต่างๆ ออกก็ยังคงเห็นเป็นโคนอนอยู่ตราบใดที่รูปทั้งหลายยังประชุมรวมกันอยู่ ก็จำไว้เป็นท่าทาง เป็นอาการใดอาการหนึ่ง และยังคงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นตัวตน บุคคลอยู่ ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อนั้นจึงจะไม่ยึดถือสภาพธรรม เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเหมือนการลอกกาบออก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้ ฉันใด