ไม่ใช่อัธยาศัยอยู่ป่า จะฝืนอัธยาศัยเป็นการสมควรหรือ
อันนี้ต้องพิจารณาเหตุผลให้ถูกต้อง มีพระภิกษุจำนวนมากทีเดียวที่ไม่ได้อยู่ป่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบังคับให้เจริญสติปัฏฐานในป่า หรือในห้องหรือในสถานที่ที่ไม่ให้ทำกิจอะไรเลย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการอยู่ป่า ทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ทรงสรรเสริญทุกอย่างที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แต่มิได้ทรงบังคับ มิได้ทรงวางกฏเกณฑ์ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะพระองค์ทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลก พระองค์ทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง เพื่อขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ตามปกติตามความเป็นจริงด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามเพศของบรรพชิตและคฤหัสถ์
เมื่อสติระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั้น ก็จะสังเกตได้ว่า ค่อยๆ ละนิสัยเก่าที่เคยเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ไปทีละน้อย เป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่ใช่ฮวบฮาบเป็นพักๆ ไม่ใช่อย่างที่บางท่านกล่าวว่าสถานที่ปฏิบัตินั้นไม่ควรทาสีเพราะทำให้เกิดโลภะ แต่พอกลับบ้านก็ทาสีบ้านปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ตามอัธยาศัยแท้จริงที่สะสมมา
พระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมซึ่งเป็นสัจจธรรมเป็นความจริง เพี่อให้เกิดความเห็นถูกในเหตุและผลของสภาพธรรมทั้งหลายทรงแสดงการอบรมเจริญปัญญาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละคลายอนุสัยกิเลสที่ประจำอยู่ในจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันมาในอดีตอนันตชาติจนถึงขณะนี้ อวิชชาความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นอนุสัยกิเลส ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ลิ้มรส รู้โผฐฐัพพะ คิดนึก สุข ทุกข์ ขณะใด ก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งสิ้น ฉะนั้น ทางเดียวที่จะละอนุสัยกิเลสได้ ก็คือ เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และรู้ชัดขึ้นเป็นลำดับจนถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น
การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่การพยายามสร้างทุกข์ให้เกิดด้วยการนั่ง นอน ยืน เดินนานๆ เพื่อให้เกิดทุกขเวทนา แต่เป็นการระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติตามความจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม