อุตตรธรรม และ โลกุตตรธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6419
อ่าน  4,096

ถาม ในปรมัตถธรรมสังเขป หน้า ๒๖๙ บทที่ ๑๕ ท่านอาจารย์ให้ความหมายของ อุตตรธรรมว่า ธรรมอันยิ่งเพราะข้ามพ้นขึ้นจากโลกนั้น มีคนสงสัยว่า อุตตรธรรมและโลกุตตรธรรม มีความหมายอย่างเดียวกันหรือไม่? มีผู้ออกความคิดเห็นว่า เนื่องจากว่า ความหมายของคําทั้งสอง (ในหนังสือ) ว่าพ้นขึ้นจากโลก จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่อีกผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า น่าจะต่างกัน เพราะความหมายที่ให้สําหรับคําทั้งสองไม่ตรงกัน พอดีผมหาดูในพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน คําว่า อุตตรธรรม ไม่มีการใช้โดยตรง มีแต่คําว่า สอุตตรธรรม และอนุตตรธรรม ในพจนานุกรมฉบับ PTS ให้ความหมายว่า เป็นธรรมะที่เหนือกว่าปกติในโลก ขอให้ท่านอาจารย์ให้ความกระจ่างด้วยครับ

ตอบ อุตตร แปลว่า ยิ่ง กว่า เหนือ ฯลฯแล้วแต่ว่านำไปใช้ในที่ใด เช่น โลกุตตรธรรม ธรรมที่เหนือโลก คือ เหนือธรรมที่แตกดับคือ โลกุตตรธรรม ๙ อย่างคือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

อุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่ยิ่งกว่าธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ คือ ยิ่งกว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ คือ รูปฌาน อรูปฌาน หรือ ธรรมที่ยิ่งกว่าที่มนุษย์ทั่วไปมีคือ ฌาน มรรคผล

สอุตตรธรรม ธรรมที่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ถ้าใช้ในสติปัฏฐานสูตร หมายถึง กามาวจรธรรม เพราะมีธรรมอื่นที่ยิ่งกว่าคือ มหัคคตธรรม

อนุตตรธรรม ธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ถ้าใช้ในสติปัฏฐานสูตร หมายถึง มหัคคตธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

จากตัวอย่างที่ยกมาก็จะเห็นได้ว่า ความหมายคล้อยตามคำแปลนั่นเอง แล้วแต่ว่านำไปใช้ในหัวข้อธรรมหมวดใด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 6 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ