ขอให้อธิบายความหมายของ คำว่า สติ
สติ เป็นเจตสิก
ปรมัตถธรรม คือสภาพธรรมที่มีจริงนั้นมี ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถึงแม้ว่าจะไม่เรียกชื่ออะไรเลย สภาพธรรมนั้นก็มีจริงๆ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หวาน เปรี้ยว ไม่ต้องเรียกอะไรเลย ชาติไหน ภาษาไหน จะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไร ขณะใดที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ สภาพธรรมนั้น ก็มีลักษณะนั้นๆ จึงเป็นปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์มี ๒ คือ จิตและเจตสิก
จิต เป็นนามธรรม เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์
เจตสิก เป็นสภาพรู้ที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิดหรือ ๕๒ ประเภท เจตสิกแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะของแต่ละเจตสิกนั้นๆ เช่น โลภะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โทสะเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โลภะความไม่โลภเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง อโทสะความไม่โกรธเป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง
เมื่อพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดกับตนในวันหนึ่งๆ ก็รู้ได้ว่า สภาพธรรมใดเป็นเจตสิกและสภาพธรรมใดเป็นจิต เช่น จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ส่วนความชอบหรือไม่ชอบนั้น ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตและดับพร้อมกับจิต
สำหรับ สติเจตสิก นั้น เป็นโสภณเจตสิก คือเป็นเจตสิกฝ่ายดี เมื่อโสภณเจตสิกเกิดกับจิตขณะใด จิตขณะนั้นเป็นโสภณจิต