ขอให้พูดถึงเรื่อง สติปัฏฐาน และ วิปัสสนา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6498
อ่าน  946

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน จนกระทั่งสติปัฏฐานเกิดได้นั้น จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงเสียก่อนว่า ขณะนี้เห็นมีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม (สภาพรู้) หรือรูปธรรม (ไม่ใช่สภาพรู้) การเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่ออบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล

ฉะนั้น ในขั้นการฟังต้องพิจารณาให้เข้าใจก่อนว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสิ่งที่มีจริง เห็นเป็นสภาพรู้ทางตา เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตา มีปรากฏเมื่อจิตรู้คือ เห็น ความรู้ความเข้าใจเช่นนี้ จะเป็นการเริ่มต้นของสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง ซึ่งมีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ เช่น เสียง และจิตที่ได้ยินเสียง สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

สติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรม และรูปธรรม โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ทีละลักษณะ ไม่ปะปนรวมกันเป็นกลุ่มก้อน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นๆ ก็สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของทั้งนามธรรมและรูปธรรม จนละคลายความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนลงเรื่อยๆ ตามขั้นความคมกล้าของปัญญา จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นอริยสัจจธรรม นั่นคือ ผลสูงสุดของสติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเริ่มจากการศึกษาพิจารณา ไตร่ตรอง ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งกำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนเข้าใจจริงๆ เสียก่อน

แม้พระผู้มีพระภาค ฯ ก็ทรงแสดงเรื่องสติปัฏฐาน ณ สถานที่ประทับทุกแห่ง ทรงแสดงทั้งพระอภิธรรมโดยละเอียด ทั้งพระสูตร พระวินัยและประโยชน์ทั้งหลาย เพื่อเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานของพุทธบริษัท ฉะนั้น ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า สติปัฏฐานคือ การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ