ขอให้อธิบายเรื่อง สังขารธรรม
จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม (ไม่ใช่เฉพาะรูปอย่างเดียว) ร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีรูปซึ่งเป็นทวาร คือทางให้จิตเกิดขึ้นรู้รูปที่กระทบตาหู จมูก ลิ้น กาย รูปไม่ใช่สภาพรู้ จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม
สังขารธรรม คือสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าเข้าใจสังขารธรรมแล้วก็จะรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง มิฉะนั้นก็เกิดไม่ได้ สิ่งใดที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป นั่นคือความหมายของสังขารธรรม ซึ่งตลอดทั้ง ๓ ปิฎก จะไม่เปลี่ยนความหมายของสังขารธรรมเลย
เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จิตจึงเป็นสังขารธรรม เจตสิกก็เป็นสังขารธรรมที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่เจตสิกมีหลายชนิด เจตสิกบางชนิดก็เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง บางชนิดก็เกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง เช่น ขณะจิตที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ใช่ขณะที่เป็นทุกข์โศกเศร้า เจตสิกที่เกิดกับจิต ๒ ประเภทนั้น ก็ต่างกัน
เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นต่างกัน จึงเป็นปัจจัยให้จิตต่างประเภทกัน จิตประเภทหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างกันตามประเภทของจิตนั้นๆ ส่วนรูปนั้นก็เกิดขึ้นตามปัจจัยของรูปแล้วก็ดับ ฉะนั้น ทั้งจิต เจตสิก รูป เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม ไม่เที่ยง คือทันทีที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก จึงไม่มีใครรู้ว่าจิตเกิดแล้วก็ดับจริงๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรมที่ทรงประจักษ์แจ้งจากการตรัสรู้ ก็เป็นหนทางให้พุทธบริษัทศึกษาพิจารณาพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาได้ โดยเข้าใจสภาพสังขารธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเสียก่อน เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งสติปัฏฐานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ว่า จิตขณะนี้ไม่เที่ยง เจตสิกไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง แต่ก็ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เป็นเพียงขั้นที่เพิ่งจะเริ่มสังเกต พิจารณา ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น