ถ้าทุกคนศึกษาธรรมะ จะขัดขวางความเจริญหรือไม่
ถ้าหากทุกคนปฏิบัติโดยเคร่งครัด เช่น มีอุเบกขาไม่มีความโลภ ทำตนให้มีสันโดษ จนถึงพระอรหันต์ซึ่งวางเฉยจริงๆ คล้ายหมดความกระตือรือร้นจะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญของหมู่คณะหรือไม่ โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม
ขอให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งจากข้อที่แล้ว คือถึงแม้อยากจะทำอย่างที่ว่านั้นก็ทำไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนันตา ใครบ้างอยากโกรธ ไม่มีใครอยากโกรธ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้โกรธ ใครอยากโลภ ก็ไม่มีใครอยากโลภ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้โลภ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ว่าใครจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ แต่ถ้าทุกคนอบรมเจริญปัญญา ละคลายความโลภ ความโกรธ ความหลงลงตามลำดับจนดับกิเลสได้จริงๆ โลกก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุขและเจริญขึ้นด้วย
ผู้ที่ดับกิเลสขั้นที่ ๑ เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แต่เบาบางกว่าปุถุชน ทุกคนย่อมปรารถนาที่จะมีโลภะ โทสะ โมหะเบาบางขั้นพระโสดาบันบุคคล พระโสดาบันบุคคลนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ประกอบกิจการงานอะไรเลย เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นบรรพชิตก็ได้ เป็นนายแพทย์ก็ได้ เป็นพ่อค้าก็ได้ เป็นข้าราชการก็ได้ ใครก็ตามที่ได้สะสมอบรมมาที่จะประกอบการอาชีพอย่างไร ก็ประกอบอาชีพอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ทำให้บุคคลอื่นสุขสบายขึ้นมาก จากการไม่กระทำทุจริต เพราะโลภ โกรธ หลง น้อยลง จึงไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
กุศลธรรมทุกประการนั้น เมื่อปฏิบัติตามได้จริงๆ แล้ว จะไม่เป็นภัย และโลกก็ย่อมจะเจริญขึ้น การที่โลกเจริญน้อยอยู่ในเวลานี้ เพราะอะไร ถ้าไม่มีโลภะ ไม่มีทุจริตต่างๆ ตัดความเห็นแก่ตัวในวงการงานออก วิทยาศาสตร์หรืออุตสาหกรรมทั้งหลายก็ย่อมเจริญกว่านี้หลายเท่า แต่ที่ยังขัดขวางอยู่ทำให้ไม่เจริญมากกว่านี้ ก็เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง การทุจริตเห็นแก่ตัว ไม่ใช่เพราะความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ส่วนการที่บุคคลใดจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์นั้นก็เป็นที่ควรบูชา เพราะไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ใครเลย แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพียงการเป็นพระโสดาบันบุคคล และเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าขึ้น และในทางที่ดีด้วย