หนังสือออกใหม่ อาจารย์สุจินต์

 
อนงค์
วันที่  4 ม.ค. 2549
หมายเลข  654
อ่าน  2,472

ดิฉันเห็นญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอ่านหนังสือ "บทบาทของอาจารย์สุจินต์" ไม่ทราบว่ามี แจกหรือเปล่าคะ? เพราะไม่เห็นนำขึ้นเว็บไซต์เลย ยังไงช่วยแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 4 ม.ค. 2549

หนังสือ "บทบาทของอาจารย์สุจินต์ " เป็นหนังสือออกใหม่ ติดต่อขอรับได้ที่มูลนิธิฯ หรือ บ้านธัมมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

บทบาทของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ในการเผยแผ่พุทธธรรม

โดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ

บทนำ

พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในการประกาศหลักพุทธธรรม พร้อมทั้งหนทางปฏิบัติดังกล่าว ก็เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของพุทธธรรมตามทัศนะของพระพุทธองค์คือ การเอาชนะกิเลสตัณหาภายในใจได้ เมื่อเอาชนะสิ่งเหล่านี้ได้ ชีวิตของเราจะสงบเย็น ซึ่งผ่านการพิสูจน์ในอรรถประโยชน์ด้วยพระองค์เอง จึงทรงเป็นแบบอย่างให้แก่พุทธบริษัท ๔ ทั้งฝ่ายของบรรพชิต และ คฤหัสถ์ โดยในฝ่ายของคฤหัสถ์นอกจากจะคอยเกื้อหนุนปัจจัยหลักแก่บรรพชิตแล้ว บทบาทในการเผยแผ่พุทธธรรมก็มีปรากฏเช่นกัน ดังตัวอย่างในครั้งพุทธกาล เช่น นางขุชุตตรา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นอุบาสิกาผู้เลิศในการแสดงธรรม ตลอดจนจิตตคฤหบดี นางวิสาขามหาอุบาสิกา หมอชีวกโกมารภัจ ฯลฯ ต่างก็มีส่วนในการเผยแผ่พุทธธรรมตามสติกำลังและความสามารถของตน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นผู้หนึ่งที่มีศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความรู้ความเข้าใจแตกฉานในพระธรรม สามารถอธิบายธรรมให้เป็นที่เข้าใจได้อย่างมีเหตุ มีผล มุ่งเน้นให้ผู้ฟังอบรมพิจารณาเข้าใจชีวิตประจำวัน ทั้งนี้โดยยึดหลักอรรถาธิบายจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นสำคัญอย่างเคร่งครัด ด้วยลีลาการพูดและน้ำเสียงในการบรรยายธรรมที่ชวนให้ติดตามฟังพร้อมทั้งผลงานในการเผยแผ่พุทธธรรมให้เป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องมากว่า ๔๐ ปีไม่ว่าจะเป็นการบรรยายธรรมในสถานที่ต่างๆ ตามที่ได้รับเชิญ หรืออาศัยผ่านสื่อมวลชน เช่น สื่อวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้แสดงบทบาทที่สำคัญในฐานะของคฤหัสถ์ท่านหนึ่ง ที่อุทิศตนต่อการทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรมด้วยความศรัทธามุ่งมั่นมาโดยตลอด จนเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนผู้ใฝ่ในธรรมได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่เนื่องจากว่าบทบาทดังกล่าวนั้นยังไม่มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดความเด่นชัดในเชิงวิชาการ ผู้วิจัยจึงเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ควรที่จะได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะได้ทราบถึงบทบาทในด้านต่างๆ ของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่มีต่อการเผยแผ่พุทธธรรม ทั้งรูปแบบและวิธีการของการสื่อสารสาระธรรม รวมทั้งความสอดคล้องต้องกันที่มีต่อพุทธวิธีการสื่อสารและหลักทางด้านนิเทศศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจการเผยแผ่ในลักษณะเช่นนี้ ตลอดจนเพื่อเป็นการเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องในพุทธธรรมยิ่งขึ้น และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

หนังสือเล่มนี้ย่อมาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาบทบาทของอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ในการเผยแผ่พุทธธรรม” (A Study of Ajarn Sujin Boriharnwanaket’sRole in Propagation of Buddha Dhamma) เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาธรรมนิเทศ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยคัดมาเฉพาะบทนำ บทที่ ๓ และบทที่ ๔ วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ในการเผยแผ่พุทธธรรม ทั้งรูปแบบและวิธีการในการสื่อสาระธรรม ตลอดจนความสอดคล้องของบทบาทดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับหลักนิเทศศาสตร์และหลักพุทธวิธีการสื่อสาระธรรม โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

ผลการศึกษาพบว่า อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นผู้เผยแผ่พุทธธรรมที่มีประสบการณ์มานานกว่า ๔๐ ปี เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพระอภิธรรม ซึ่งว่าด้วยสภาวะของปรมัตถธรรมที่สุขุมลุ่มลึก มีผลให้ทัศนคติที่มีต่อพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลง ไปสู่ความศรัทธาที่มั่นคง และด้วยทัศนคติต่อตนเองในฐานะอุบาสิกาที่มีศรัทธาในการเผยแผ่ธรรมจึงเห็นว่าการศึกษาและเผยแผ่พุทธธรรมเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรให้ความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะเป็นหน้าที่ของบรรพชิตเท่านั้น แต่คฤหัสถ์ก็ควรกระทำตามกำลังสติปัญญาด้วย ส่วนทัศนคติของอาจารย์สุจินต์ที่มีต่อผู้ฟังนั้น ก็เป็นไปด้วยความเมตตาในฐานะกัลยาณมิตรที่ช่วยชี้ทางธรรมให้แก่ผู้อื่นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

ความรู้ทางโลกและทางธรรม รวมทั้งทัศนคติที่ดีในด้านต่างๆ เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมทักษะของอาจารย์สุจินต์ในการสื่อสาระธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัจนสาระธรรมที่สื่อภาษาทั้งไทยและอังกฤษ การใช้ถ้อยคำเป็นไปอย่างสุภาพ มีความกระชับ หนักแน่น ได้ใจความชัดเจนตามความหมายของธรรม สามารถถ่ายทอดสาระจากธรรมในทุกระดับให้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยาก รวมถึง อวัจนสาระธรรมซึ่งเห็นได้ถึงบุคลิกภาพที่อ่อนน้อมกิริยามารยาทที่สำรวม การออกเสียงที่ถูกอักขระวิธี และน้ำเสียงไพเราะชวนฟัง ตลอดจนได้ทราบชัดถึงพื้นฐานความเข้าใจธรรมของผู้ฟัง การสื่อสาระธรรมในฐานะของคฤหัสถ์จึงเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานภาพ

ระบบสังคม และวัฒนธรรมไทยในยุคปัจจุบัน สาระแห่งพุทธธรรมทุกระดับที่อาจารย์สุจินต์ได้นำมาแสดงนั้น สามารถเชื่อมโยงถึงการเจริญวิปัสสนา และข้อปฏิบัติแห่งสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา โดยการค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ พุทธธรรมทุกระดับนั้น สามารถประพฤติปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันเนื่องจากไม่มีสิ่งใดเลยในโลกและชีวิตที่ไม่ใช่ธรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในธรรมของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญว่ามีมากน้อยเพียงใด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

อาจารย์สุจินต์ได้สื่อสาระธรรมด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มจากสื่อบุคคล คือ การพัฒนาตนเองในด้านทักษะ ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจในผู้ฟัง ระบบสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏให้ทราบโดยผ่านสื่อระหว่างบุคคลด้วยวิธีการในการสื่อสาระธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายธรรมการสนทนาและตอบปัญหาธรรมตามหลักพุทธวิธีรวมถึงการเผยแผ่พุทธธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสื่อมวลชนนั้นถูกนำมาใช้เป็นเพียงส่วนขยายช่องทางการเผยแผ่พุทธธรรมให้กว้างไกล เพิ่มความสะดวกและเหมาะสมแก่ผู้ฟังมากยิ่งขึ้น โดยใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเป็นหลัก รองลงมา ก็คือ สื่ออินเตอร์เนต นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่นๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเทป และ ซีดีบันทึกเสียง

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 ม.ค. 2549

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักนิเทศศาสตร์ และ หลักพุทธวิธีการสื่อสาระธรรมบทบาทของอาจารย์สุจินต์ มีความสอดคล้องกับทุกองค์ประกอบของหลักนิเทศศาสตร์ในขณะที่แนวคิดพื้นฐานและวัตถุประสงค์ของอาจารย์สุจินต์ ทั้งในส่วนของความรู้ความเข้าใจ บุคลิกภาพในฐานะผู้ส่งสาระธรรม สื่อที่ใช้ รวมทั้งการคำนึงถึงความพร้อมของผู้รับสาร สิ่งเหล่านี้อาจารย์สุจินต์ได้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องด้วยดีกับหลักพุทธวิธีการสื่อสาระธรรม บทบาทดังกล่าว จึงเป็นไปอย่างเหมาะสมตามควรแก่สถานะของคฤหัสถ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พุทธธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 23 ม.ค. 2552
อนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 20 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ