อะไรเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6542
อ่าน  1,513

ต้องเป็นการที่จะรู้ตัวเองว่า เริ่มมีความเข้าใจถูกบ้างไหม ในขณะที่ฟังเพิ่มขึ้น เกือบจะไม่ต้องไปนั่งนึกถึงเรื่องปฏิบัติ หรือว่าเรื่องสติปัฏฐานเลย เพราะว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสติเกิดระลึก แต่ถ้าไม่รู้เลยว่า สติมีลักษณะอย่างไร ขณะที่จดจ้องเข้าใจว่ากำลังเป็นสติ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ

ก่อนอื่นก็คือว่า ต้องรู้ลักษณะของสติ จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ หรืออีกประการหนึ่งก็คือว่า เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสติเป็นปัจจัย สติปัฏฐานจึงเกิด มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เกื้อกูลพุทธบริษัท ตั้งแต่สมัยโน้น จนกระทั่งถึงกาลสมัยนี้ ๒๕๐๐ กว่าปี แสดงให้เห็นว่าความละเอียดของพระธรรม ป้องกันความเห็นผิดทุกอย่าง แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะใดเห็นถูก ขณะใดเป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ขณะใดเป็นสัมมามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติก็จะมี ๕ องค์

นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยที่ว่าไม่เอาสมาธิมาเป็นสติ การเห็นการเกิดดับของสภาพธรรมโดยการนึกคิดได้ โดยการที่เข้าใจว่าขณะนี้เสียงดับ ขณะนี้จิตได้ยินดับ นี่ก็เป็นความเข้าใจ แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด แล้วก็ไม่ผ่านพยัญชนะใด โดยที่คิดว่า เข้าใจถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องไม่ไปกังวลถึงสติปัฏฐานถึงปัญญาระดับสูง แต่ปัญญาระดับสูงจะมีได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การพิจารณา การเข้าใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นสติปัฏฐานแน่นอน ถ้าสติเกิดแล้วระลึก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Komsan
วันที่ 1 ม.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 22 เม.ย. 2551
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 23 เม.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pannipa.v
วันที่ 26 เม.ย. 2551

สุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต เป็นหนึ่งใน อาหารปัจจัย ให้สติปัฏฐานเกิด

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 12 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ