ทำไม กำหนดเวทนา แล้วสามารถบรรลุธรรมได้
ฟังดูเหมือนกับทำได้โดยไม่ต้องมีปัญญาเลย แต่ความจริงมหาสติปัฏฐานเป็นการอบรมภาวนาให้ปัญญาเจริญขึ้น ตั้งแต่การไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่เพียงฟังเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การศึกษาอีกระดับหนึ่ง ต้องเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นจนกว่าจะสมบูรณ์ถึงมรรคจิตที่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าปัญญาขั้นต้นๆ ไม่มีที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามก็อ่านอีก เวทนานุปัสสนาก็พยายามจะไปรู้เวทนาด้วยความเป็นเรา แต่ว่าธรรมต้องสอดคล้องกัน ตั้งแต่คำต้นจนถึงคำท้าย ธรรมเป็นธรรม ไม่เรียกอะไรก็ได้ แข็งจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ หรือแม้ไม่เรียกแต่สามารถที่จะรู้โดยกายสัมผัสได้ เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริง
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ว่าเป็นธรรมก็จะไม่มีเราจะไปดูเวทนา เพราะว่าจะดูสักเท่าไร ก็เป็นเราที่ดู จะเห็นเวทนาอะไร ก็เป็นเราที่เห็น ขณะนั้นเป็นสุขก็ยังคงเป็นเราที่สุข ไม่มีการที่สามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ว่า ลักษณะของสติไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ความต้องการที่ต้องการจะดู แต่ต้องรู้ว่า ขณะนี้สติเกิดหรือหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้นสำหรับสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าเป็นขั้นของสมถะ ต้องมีปัญญาระดับที่สามารถจะรู้สภาพของจิตที่ต่างกันว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิตแล้วจึงจะค่อยๆ กันนิวรณธรรม ซึ่งก็ได้แก่ อกุศลจิตทุกชนิดออกไปได้ เพราะว่าขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต แล้วยังต้องรู้เหตุที่กุศลจิตเกิดว่าเพราะอะไร เพราะว่าคนเราที่ไม่คิดนี้ไม่มี คิดทุกคน แต่ว่าคิดเป็นกุศลหรือว่าคิดเป็นอกุศล คิดประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดเป็นอกุศล ขณะนั้นก็จะอบรมหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็อบรมไป คือขณะนั้นทำให้โลภมูลจิตเพิ่มขึ้น ต้องการเพิ่มขึ้น ต้องการที่จดจ้องโดยการที่ไม่ได้ละคลายเลย
ปัญญาของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา เป็นปัญญาที่ต่างขั้น แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะว่าปัญญาของสมถะสามารถที่จะรู้ความต่างของกุศลจิตและอกุศลจิต และรู้ว่าเมื่อตรึก ระลึกถึงสิ่งใดจิตจะค่อยๆ สงบจากอกุศลจนเพิ่มกำลังขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ถ้ากำลังจดจ้องต้องการ ในขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาแล้วก็เป็นโลภะด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละอกุศล กุศลก็เจริญไม่ได้ แต่เข้าใจว่าขณะนั้นเป็นกุศลได้ เพราะว่าเข้าใจผิด
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีปัญญาต่างขั้น คือปัญญาของสมถะนั้น เพียงสามารถที่จะอบรมกุศลจิตให้เจริญ ให้ตั้งมั่น แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถจะละความเป็นตัวตนหรือความเป็นเราได้ นอกจากสติปัฏฐานวิปัสสนาภาวนา แล้วไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำที่ว่า ละเสีย อย่ายึดมั่น ก็เป็นสิ่งที่เพียงฟัง แต่เมื่อไม่ได้แสดงหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะละได้ เพราะว่าแม้สมถภาวนา จิตที่สงบยังละความเป็นตัวตนไม่ได้