เจตนาเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

 
ทรงศักดิ์
วันที่  15 พ.ค. 2548
หมายเลข  66
อ่าน  2,216

เจตนาเกิดขึ้นได้อย่างไร ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 พ.ค. 2548

พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก คือ ต้องทราบว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วหนึ่งขณะจิตที่เกิดแล้วดับ แต่ว่าจิตที่เกิดทุกขณะมีพลัง หรือมีสันตติในการที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีที่จิตนั้นดับลง เวลาที่พระคุณเจ้าสวดพระอภิธรรม จะมีคำว่าเหตุปัจจโย อารัมมณปัจจัยโย ...นัตถิปัจจโย สิ่งที่มีแล้วปราศไป

เพราะฉะนั้น จิตในขณะนี้มีเกิดแล้วดับ การดับ คือ การปราศไปของจิตขณะนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าจิตขณะนี้ยังไม่ดับ ยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทุกคนจะมีจิตเพียง ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็เกิดอีกแล้วก็ตายอีก แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว

เพราะฉะนั้น จิตทำหน้าที่เกิดขึ้น เมื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีกแล้วก็เกิดอีก ดับอีก เพราะฉะนั้น การที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องศึกษาพระธรรมแล้วก็เริ่มมีความเห็นถูก แต่ไม่ใช่ว่ามีเราจะไปประจักษ์หรืออยากจะทำเพื่อที่จะให้เห็น แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา คือ ความเข้าใจถูกและรู้ว่าขณะนั้นเริ่มเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้เข้าใจถูกต้องแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 พ.ค. 2548

เจตนาเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิตและดับพร้อมจิต จิตจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเจตสิกก็เกิดขึ้นไม่ได้โดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วย ทั้งจิตและเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิด

สัพพจิตตสาธารณเจตสิกมี ๗ ดวง ซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง จิตทุกประเภทและทุกขณะที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วย ได้แก่...

๑. ผัสสเจตสิก

๒. เวทนาเจตสิก

๓. สัญญาเจตสิก

๔. เจตนาเจตสิก

๕. เอกัคคตาเจตสิก

๖. ชีวิตินทริยเจตสิก

๗. มนสิการเจตสิก

สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดขึ้นร่วมด้วยเท่านั้น ไม่มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยอีกเลย ฉะนั้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จึงมีเจตสิกร่วมด้วยน้อยที่สุด คือ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงนี้เท่านั้นจิตอื่นๆ นอกจากนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง ตามประเภทของจิตนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 พ.ค. 2548

เจตนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทำกิจ ตามประเภทของเจตนาและสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้นๆ เจตนาเจตสิกจึงเป็นกัมมปัจจัย เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิตเป็นสหชาตกัมม (ปัจจัย) เพราะกระทำกิจของเจตนาที่เป็นวิบากพร้อมกับวิบากจิตและวิบากเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันแล้วก็ดับไป เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกิริยาเกิดขึ้นกระทำกิจของเจตนาร่วมกับกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกอื่นๆ แล้วดับไปก็เป็นสหชาตกัมมปัจจัย

แต่อกุศลเจตนาที่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตและกุศลเจตนาที่เกิดกับกุศลจิตนั้น เมื่อสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกุศลกรรมบถอย่างใดย่างหนึ่งแล้วดับไป เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย เพราะทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นในกาลข้างหน้าซึ่งไม่ใช่ในขณะเดียวกับอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนาที่กระทำนั้น เมื่อให้ผลต่างขณะคือ ทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดภายหลังจากอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนาซึ่งเป็นเหตุดับไปแล้ว เจตนากรรมซึ่งเป็นอกุศลเจตนาหรือกุศลเจตนานั้นจึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 พ.ค. 2548

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า ธรรมเป็นอนัตตา หมายความว่าไม่มีเรา ที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา ก็คือ สภาพธรรมแต่ละชนิด คือ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

“เจตสิก” หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดกับจิต เช่น ความติดข้องเป็นโลภะ ความขุ่นเคืองเป็นโทสะ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นโมหะ และชีวิตประจำวันอื่นๆ เช่น ความขยันก็มีจริงแต่ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเป็นไปตามลำดับ ถ้าเราข้ามขั้น เราก็ไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้เลย เหมือนเวลาที่เราเรียนหนังสือ เราก็ต้องเรียนตั้งแต่ต้น ชั้นเล็กๆ แล้วค่อยๆ เจริญขึ้นการศึกษาธรรมต้องศึกษาจริงๆ เพราะว่าเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่บางครั้งอาจจะอ่านหนังสือ เช่น พระไตรปิฎก แต่ไม่ได้ศึกษาจะทำให้เข้าใจผิดได้ พระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ต้องอาศัยการศึกษา การพิจารณา การค่อยๆ เข้าใจตามลำดับจริงๆ

ถ้าใครก็ตามที่เคยมีประสพการณ์ในเรื่องต่างๆ แต่ไม่เข้าใจอะไร หรือว่าอาจจะเข้าใจผิด เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ ได้ เพราะว่าแต่ก่อนมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวตน

แต่เมื่อศึกษาแล้วก็ทราบว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง แต่ละคนเป็นธรรมทั้งหมดเลย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล รูปธรรมซึ่งเป็นธรรม ก็เป็นรูปธรรม เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจลักษณะที่ต่างกันของธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรมก่อนต้องเป็นความเข้าใจที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ถ้าเป็นเรา เป็นตัวตนที่พยายามจะรู้ อันนั้นไม่ได้ละความไม่รู้เลย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 17 พ.ค. 2548

ในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีผู้สร้างผู้บังคับผู้สั่ง นามธรรมและรูปธรรมเกิดเพราะมีปัจจัย กรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดวิบาก ฉะนั้นทุกวันนี้เราทุกคนเกิดมาส่วนหนึ่งรับผลของกรรมเก่า ส่วนหนึ่งกระทำกรรมใหม่ ส่วนที่รับผลของกรรม ได้แก่ การเกิดเป็นมนุษย์ และทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส เหล่านี้เป็นผลของกรรม เรียกว่า วิบาก ส่วนที่เป็นกรรมใหม่ ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ฉะนั้นความคิดความไตร่ตรอง รวมทั้งการกระทำทั้งหมดไม่ใช่ผลของกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prissna
วันที่ 19 พ.ค. 2551

อนุโมทนาค่ะ

กรรม คือ เจตนาเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 19 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

ขอพระสัทธรรม ทำให้ใจของท่านเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 7 ก.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Kalaya
วันที่ 25 ก.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ก.ไก่
วันที่ 1 ก.พ. 2565

อนุโมทามิ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ