ตำราโดยพุทธองค์

 
lek
วันที่  5 ม.ค. 2549
หมายเลข  662
อ่าน  2,325

ตำราหรือคัมภีร์ที่พุทธองค์ทรงนิพนธ์เอง มีบ้างไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

พระพุทธวจนะ คือ พระไตรปิฎก รวมเป็นศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดเป็นองค์ ๙ คือ

สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรต่างๆ มีมงคลสูตรเป็นต้น

เคยยะ คือ พระสูตรที่ประกอบไปด้วยคาถาทั้งหมด

เวยยากรณะ คือ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธวจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในองค์ ๘ ได้ชื่อว่าเวยยากรณะทั้งหมด

คาถา คือ พระธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ที่ไม่มีชื่อว่าสูตรในสุตตนิบาต

อุทาน คือ พระสูตร ๘๒ สูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งด้วยโสมนัสญาณ

อิติวุตตกะ คือ พระสูตร ๑๐๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

ชาดก เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า มีอปัณณกชาดกเป็นต้นมีทั้งหมด ๕๕๐

อัพภูตธรรม คือ พระสูตรที่ปฏิสังยุตด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรมทั้งหมด

เวทัลละ คือ ระเบียบคำที่ผู้ถามได้ความรู้แจ้งและความยินดี แล้วถามต่อๆ ขึ้นไป ดังจูฬเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร และสักกปัญหสูตร เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก โดยสภาพแห่งธรรมแล้ว เป็นสัจธรรมที่ทรงแสดงว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้งรู้ได้ยาก รู้ตามเห็นตามได้ยาก สงบประณีต ไม่อาจจะรู้ได้ด้วยการตรึก ละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตจะรู้ได้ เพราะสภาวะแห่งธรรมมีลักษณะดังกล่าว จึงจำต้อง ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจทั้งโดยอรรถะและพยัญชนะเพื่อให้สามารถหยั่งรู้ธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

เนื่องจากพื้นเพอัธยาศัยของคนแตกต่างกันในด้านต่างๆ ซึ่งทรงอุปมาไว้เหมือน ดอกบัว ๔ เหล่า พระพุทธเจ้าจึงทรงมีวิธีในการแสดงธรรม ตามอาการสอนธรรมของพระองค์ ๓ประการ คือ

๑. ทรงสอนให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

๒. ทรงแสดงธรรมมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

๓. ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามจะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่การ ประพฤติปฏิบัติ

แต่เพราะพระพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ทรงฉลาดในโวหารเพราะทรงเป็นเจ้าแห่งธรรม ก่อนจะทรงแสดงธรรมแก่ใคร ทรงตรวจสอบภูมิหลังด้านต่างๆ ของคนเหล่านั้นด้วยพระญาณแล้ว ผลจากการฟังในพุทธสำนึกจึงไม่มีปัญหาว่า คนฟังจะไม่เข้าใจ ผลจากการฟังธรรมสมัยพุทธกาลจึงมีความอัศจรรย์

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ทรงตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ธรรมที่ทรงแสดงไว้ยังเป็นเช่นเดิม แต่ระดับสติปัญญา บารมี ความสนใจในธรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การตีความพระธรรมวินัยตามความเข้าใจของตนเองเกิดขึ้น จนทำให้สูญเสียความเสมอกันในด้านศีลและทิฏฐิครั้งแล้วครั้งเล่า บางสมัยเกิดแตกแยกกันเป็นนิกายต่างๆ ถึง ๑๘ นิกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

พระอรรถกถาจารย์ผู้ทราบพุทธาธิบาย ทั้งโดยอรรถะและพยัญชนะแห่งพระพุทธวจนะ เพราะการศึกษาจำต้องสืบต่อกันมาตามลำดับ มีฉันทะอุตสาหะอย่างสูงมาก ได้อรรถาธิบายพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ส่วนที่ยากแก่การเข้าใจ ให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับผู้ศึกษาและปฏิบัติ ความสำคัญแห่งคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาจึงมีลดหลั่นกันลงมา คือ

๑. พระสูตร คือ พระพุทธวจนะที่เรียกว่า พระไตรปิฎกทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

๒. สุตตานุโลม คือ พระคัมภีร์ที่พระอรรถกถาจารย์รจนาขึ้น อธิบายข้อความที่ยากในพระไตรปิฎก

๓. อาจริยวาท วาทะของอาจารย์ต่างๆ ตั้งแต่ชั้นฎีกา อนุฎีกา และบุรพาจารย์ในรุ่นหลัง

๔. อัตโนมติ ความคิดเห็นของผู้พูด ผู้แสดงธรรมในพระพุทธศาสนา

ในกาลต่อมา มีการอธิบายธรรมประเภทอาจริยวาท คือ ถือตามที่อาจารย์ของตนสอนไว้ กับอัตโนมติ ว่าไปตามมติของตนกันมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เป็นหลักสำคัญ คือ พระไตรปิฎก และอรรถกถา มีไม่แพร่หลาย อรรถกถาส่วนมากยังเป็นภาษาบาลี คนมีฉันทะในภาษาบาลีน้อยลง สำนวนภาษาบาลีที่แปลออกมาแล้ว ยากต่อการทำความเข้าใจของคนที่ไม่ได้ศึกษามาก่อนขาดกัลยาณมิตรที่เป็นสัตบุรุษในพระพุทธศาสนาเป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

การอธิบายธรรมที่เป็นผลจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นอันตรายมาก เพราะโอกาสที่จะเข้าใจผิด พูดผิด ปฏิบัติผิดมีได้ง่าย พระไตรปิฎกเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั่วไปจะขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ ฉันใด การอธิบายธรรมขัดแย้งกับพระไตรปิฎก พุทธศาสนิกชนที่ดีย่อมถือว่าทำไม่ได้เช่นเดียวกันฉันนั้น

เพื่อให้พระพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎก แพร่หลายออกมาในรูปภาษาไทย และให้เกิดความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา ตรงตามหลักที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และที่พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ จะได้เกิดทิฏฐิสามัญญตา ความเสมอกันในด้านทิฏฐิ และ สีลสามัญญตา ความเสมอกันในด้านศีล ของชาวพุทธทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มหามกุฏราชวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีการแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 ม.ค. 2549

บ้านธัมมะเห็นว่า งานแปลพระไตรปิฎก และอรรถกถา ของมหามกุฎราชวิทยาลัยคงอำนวยประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณร ท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในหลักธรรม และคงเป็นถาวรกรรมอันอำนวยประโยชน์ได้นานแสนนาน เว็บไซต์บ้านธัมมะจึงได้นำเสนอพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านผู้ชมสามารถ download พระไตรปิฎกและอรรถกถาไว้อ่านทั้งชุด ๙๑ เล่ม ขณะนี้มีบัญชีเรื่องสำหรับแต่ละเล่ม และระบบสืบค้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา ขอเชิญท่านผู้ชมศึกษาพระธรมได้จากพระไตรปิฏก....

อ่าน..

พระไตรปิฏกและอรรถกถาฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย 91 เล่ม

พระวินัยปิฏก

พระสุตตันปิฏก

พระอภิธรรมปิฏก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 25 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Witt
วันที่ 26 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ