รู้จักจิตมีโมหะอยู่ มีความหมายแค่ไหน
อกุศลจิต มี 3 ประเภทใหญ่ คือ
โลภมูลจิต เป็นจิตซึ่งประกอบด้วยความต้องการยินดี อยากได้ ติดข้อง
โทสมูลจิต เป็นจิตที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย ไม่พอใจ ไม่สบายใจ หรือสภาพที่ขุ่นมัวใจ แม้เพียงเล็กน้อย แม้ยังไม่ถึงความโกรธที่รุนแรง ก็เป็นลักษณะของโทสมูลจิต
โมหมูลจิต คืออกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ ฉะนั้น โมหมูลจิต จึงเป็นอกุศลธรรมที่รู้ยาก เพราะไม่เหมือนขณะที่เป็น โลภะและโทสะ ขณะที่รับประทานอาหารอร่อย ก็ตอบได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต จิตกำลังติด กำลังต้องการ กำลังชอบอาหารนั้น ขณะที่ไม่ชอบ โกรธ ไม่สบายใจ เสียใจก็รู้ได้ แต่ลักษณะของโมหะที่จะสังเกตได้โดยตำราว่าขณะใดที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต เช่น ขณะที่ลืม คิดไม่ออก เผลอไม่รู้สึกตัว เป็นต้น ขณะนั้นไม่สามารถจะบอกได้ว่า กำลังรู้อะไร เพราะว่ากำลังนึกถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นลักษณะของโมหมูลจิต ฉะนั้น สติจึงระลึกรู้ขณะที่เป็นโมหะน้อยกว่าขณะที่เป็นโลภะ หรือโทสะ
แต่ข้อสำคัญของการอบรมเจริญสติปัฎฐาน คือ ไม่ใช่ตั้งใจที่จะรู้โมหมูลจิต แต่ระลึกรู้สภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่ปรากฏทางตา นั่งเหม่อ ทั้งๆ ที่เห็นก็เหมือนไม่เห็น เพราะไม่รู้ว่าเห็นอะไรบ้างและใจอาจคิดถึงสิ่งอื่น ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต ทางหู เวลาได้ยินเสียงแต่ไม่สนใจเลยว่าเสียงอะไร ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต ซึ่งเกิดหลังจากได้ยิน ขณะใดที่ไม่สนใจและไม่รู้ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส คิดนึกอะไร ขณะนั้นก็เป็นโมหมูลจิต ถ้าสติระลึกสภาพของโมหมูลจิต ก็ย่อมระลึกได้ เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สภาพธรรมใดที่มีลักษณะปรากฏจริงๆ สภาพธรรมนั้นๆ ก็เป็นสติปัฎฐานทั้งนั้น
ข้อสำคัญต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เมื่อเกิดแล้วก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งบ้าง อ่อนบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง ใจก็คิดนึกทุกวันทุกเรื่อง แต่ก็ยังไม่รู้สภาพที่แท้จริงของเห็น ของได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงยังไม่ใช่ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ฉะนั้น จึงต้องศึกษาให้เข้าใจ และประจักษ์แจ้งสภาพธรรมเหล่านี้ ที่หลงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือเป็นของเรา ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ก็กำลังปรากฏอยู่จริงๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง