ปัญจวัคคียสูตร - อนัตตลักษณะ - ๒๙ ธ.ค. ๒๕๕o
สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒๙ ธ.ค. ๒๕๕๐ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
๗. ปัญจวัคคิยสูตร
ว่าด้วยอนัตตลักษณะ
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๓๕
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๓๕
๗. ปัญจวัคคิยสูตร
ว่าด้วยอนัตตลักษณะ
[๑๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสปตนมฤคทายวันกรุงพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิดอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนามิใช่ตัวตน ก็หากเวทนานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาว่า ขอเวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน ก็หากสังขารนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้นสังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเราจงเป็นอย่างนี้เถิดอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.
[๑๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? ภิ. เป็นทุกข์พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นตัวตนของเรา ? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิ. ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? ภิ. เป็นทุกข์พระเจ้าข้า. พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นตัวตนของเรา ? ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๑๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอกหยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเราเราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
[๑๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนี้มิได้มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ต่างมีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น.
จบ ปัญจวัคคิยสูตรที่ ๗
อรรถกถาปัญจวัคคิยสูตรที่ ๗
ในปัญจวัคคิยสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปญฺจวคฺคิเย ได้แก่นักบวช ๕ รูป มีพระอัญญาโกณฑัญญเถระเป็นต้นซึ่งเป็นอุปัฏฐากเดิม.
บทว่า อามนฺเตสิ ความว่า วันแรม ๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลตามลำดับ ตั้งแต่ทรงประกาศธรรมจักรในวัน-อาสาฬหปุณณมีว่า บัดนี้เราจักแสดงธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะแก่เธอทั้งหลาย.บทว่า เอตทโวจ ความว่า ได้ตรัสคำนี้ คือ อนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ตูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนตฺตา ความว่า ชื่อว่าอนัตตา ด้วยเหตุ ๔ อย่างที่กล่าวแล้วในก่อน. เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน. เพราะโดยฐานะเพียงเท่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนัตตลักษณะเท่านั้น มิได้ตรัสอนิจจลักษณะและทุกขลักษณะ บัดนี้ ทรงแสดงลักษณะเหล่านั้น เพื่อรวมแสดงลักษณะทั้ง ๓ จึงทรงเริ่มคำนี้.
พึงทราบดังนี้.
บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะขันธ์ ๕ เหล่านี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา. คำอธิบายอย่างพิสดารในคำว่า ยงฺกิญฺ จิ รูปํ เป็นต้น กล่าวไว้แล้วในขันธนิเทศ ตอนว่าด้วยปัญญาภาวนาในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. คำที่เหลือในที่ทุกแห่ง พึงทราบตามทำนองที่กล่าวแล้วนั่นและ ก็ในพระสูตรนี้ ท่านกล่าวอนัตตลักษณะเท่านั้นแล.
จบ อรรถกถาปัญจวัคคิยสูตรที่ ๗
๗. ฏีกาปัญจวัคคียสูตร
(ในฉบับฉัฏฐสังคายนาเป็น อนัตตลักขณสูตร ทั้งพระบาลี อรรถกถาและฏีกา)
๕๙. ข้อความว่า อุปัฏฐากเดิม หมายถึง ชนผู้เคยเป็นอุปัฏฐาก ในคราวที่ทรง ตั้งความเพียรครั้งแรก ฯ
ข้อความว่า ด้วยเหตุ ๔ อย่างที่กล่าวแล้วในก่อน หมายถึง เหตุ ๔ อย่าง ที่กล่าวแล้วอย่างนี้ คือ
๑) เพราะเหตุที่เป็นธรรมไม่เป็นไปในอำนาจ๒) เพราะเหตุที่เป็นธรรมไม่มีเจ้าของ๓) เพราะเหตุที่เป็นธรรมว่างเปล่า๔) เพราะเหตุที่เป็นธรรมปฏิเสธอัตตา
ข้อความว่า โดยฐานะเพียงเท่านี้ หมายถึง โดยการแสดงพระสูตรเพียงเท่านี้ เริ่มตั้งแต่ รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดังนี้ ไปจนถึง เอวํ เม วิญฺญาณํ มา อโหสิ ขอวิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้ ฯ
ข้อความว่า ตรัสลักษณะเหล่านั้น หมายถึง ได้ตรัสลักษณะที่ยังมิได้ตรัสนั่นแหละให้ยิ่งขึ้น, หาได้ตรัสอนัตตลักษณะที่ตรัสแล้วให้ยิ่งขึ้นไปไม่ ฯ
ข้อความว่า รวมแสดง หมายถึง ประมวล ฯ
ข้อความว่า คำอธิบายอย่างพิสดาร หมายถึง อรรถกถา (กถาแสดงเนื้อความพระบาลี) โดยพิสดาร
ข้อความว่า ทรงแสดงอนัตตลักษณะเท่านั้น หมายถึง ตรัสเฉพาะอนัตตลักษณะเพราะเป็นพระสูตรมากไปด้วยอนัตตลักษณะ และเพราะมีอนัตตลักษณะเป็นประธาน ฯ จริงอยู่ อนัตตลักษณะเท่านั้น จัดว่าเป็นหัวหน้า เป็นประธาน เพราะแม้ลักษณะอื่นๆ มีอนิจจตาเป็นต้น ที่ตรัสไว้ ก็เพื่อแสดงอนัตตลักษณะนั้นนั่นแหละ ในเบญจขันธ์นั้น ตามอัธยาสัยของเวไนยสัตว์ เช่นนั้น ฯ
จบ ฏีกาปัญจวัคคิยสูตร
หมายเหตุ แปลจาก คัมภีร์สังยุตตฏีกา ทุติยภาค ฉบับมหาจุฬา ฯ หน้า ๒๗๐
ขออนุโมทนา คุณ Spob ที่นำข้อความจากฎีกามาลง มีประโยชน์มากครับ