วารณเถรคาถา .. เพราะเห็นงูกับพังพอนต่อสู้กัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 264 ข้อความตอนหนึ่งจาก...
วารณเถรคาถา
ท่านวารณะ (เกิดในตระกูลพราหมณ์) เจริญวัยแล้ว ได้ฟังธรรมในสำนัก ของพระเถระผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง ได้ความเลื่อมใส บวชบำเพ็ญสมณธรรม. อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เห็นงูเห่ากับพังพอนต่อสู้กันตายที่ระหว่างทาง เกิดสังเวช สลดใจ ว่า สัตว์เหล่านี้ถึงความสิ้นชีวิต เพราะโกรธกัน ดังนี้แล้ว ได้ไปถึงสำนักของ พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบอาจาระอันงามของท่านแล้ว เมื่อจะทรงประทานพระโอวาทให้เหมาะกับอาจาระนั้นนั่นแหละ จึงได้ทรงภาษิต พระคาถา ๓ คาถา ว่า
" บรรดามนุษย์ในโลกนี้ นรชนใดเบียดเบียน
สัตว์เหล่าอื่น นรชนนั้นย่อมกำจัดหิตสุขในโลก
ทั้ง ๒ คือ ทั้งในโลกนี้ และ โลกหน้า ส่วนนรชนใด มีเมตตาจิต อนุเคราะห์สัตว์ทั้งมวล
นรชนนั้นผู้เช่นนั้น ย่อมประสบบุญตั้งมากมาย
เขา ควรศึกษาธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว (ควรศึกษา) การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ (ควรศึกษา) การอยู่แต่ผู้เดียวในที่ลับ
และ (ควรศึกษา) ธรรมเครื่องสงบระงับจิต"
...ในที่สุดแห่งคาถา ท่านพระวารณะ เจริญวิปัสสนาแล้วได้บรรลุอรหัตตผล.
* * หิตสุข หมายถึง ความเกื้อกูลและความสุข * *
ดิฉันเป็นผู้ที่มักเบียดเบียนตนเอง ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตนเป็นของๆ ตน จึงเกิดความตระหนี่หวงแหนในสิ่งของ มักโกรธที่เห็นผู้อื่นมาใช้สอยสิ่งของโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยความหลงผิด ครั้นไม่มีใครสนใจมาใช้สอยข้าวของเหล่านั้นก็เกิดความเศร้าใจเสียใจว่าข้าวของเหล่านั้นน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นบ้าง ทั้งๆ ที่สติปัฏฐานก็เกิดบ้างแล้วแต่ไม่บ่อยพระธรรมจีงยังไม่เป็นสรณะ ดิฉันเห็นกำลังของปัญญาว่ายังอ่อน เป็นเหตุให้อกุศลครอบงำได้ ตราบใดที่ไม่เห็นธรรมะว่าเป็นธรรมะ เห็นสิ่งที่ปรากฎทางตาว่าเป็นเพียงรูป ขณะเห็นเป็นเพียงนามธรรมลักษณะหนึ่ง ทวารอื่นๆ สติก็สามารถระลึกรู้ได้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ความเหนียวแน่นในการยึดถือว่าเป็นตนของตนจะค่อยๆ ถอยไปเบาบางไป ขออนุโมทนากับ คุณ khampan.a ทำให้ดิฉันตาสว่าง และสบายใจขึ้นจากการติดข้องเห็นโทษภัยของความตระหนี่ของตน สามารถเอื้อเฟื้อและแบ่งปันสิ่งของได้
ขออนุโมทนาที่ได้กรุณาอธิบายคำศัพย์เพิ่มเติมค่ะ
ท่านเป็นผู้ที่มีความละเอียดสมกับเป็นนาคหลวงจริงๆ
ขออนุโมทนากระทู้ที่เกื้อกูลประโยชน์ในการเจริญปัญญาต่อสหายธรรมด้วยกันครับ
ข้อความบางตอนจาก...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ 587
บทว่า หิตาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นเหตุแห่งสมบัติในโลกหน้า. บทว่า สุขาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความสุขในพระ-นิพพาน. ก็ศัพท์ว่า หิต และ สุข สำนวนแรก พึงทราบโดยทั่วไปแก่
หิตสุขทั้งปวง.