ที่จิตชื่อว่า ปัณฑระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6811
อ่าน  1,035

ที่ (จิต) ชื่อว่า “ปัณฑระ” เพราะความหมายว่า บริสุทธิ์

คำนี้ ตรัสหมายเอา ภวังคจิต

จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันทีการดับไปของจิตดวง (ขณะ) ก่อนเป็นปัจจัยให้ จิตดวง (ขณะ) ต่อไปเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่มีจิตที่เห็นอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่ฝัน จิตก็เกิดดับรู้อารมณ์สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตใดที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นเป็นภวังคจิต คือ ดำรงรักษาภพชาติที่เป็นบุคคลนั้นสืบต่อไว้จน กว่าจิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูกหรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการเป็นบุคคลนั้น

ฉะนั้น ที่จิตชื่อว่า “ปัณฑระ” เพราะความหมายว่า “บริสุทธิ์” นั้น ตรัสหมายเอาภวังคจิต ซึ่งบริสุทธิ์เพียงชั่วขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจเท่านั้น ขณะที่หลับสนิททุกคน ดูเหมือนบริสุทธิ์ ไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่สำคัญตน ไม่เมตตา ไม่กรุณา เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้ได้ว่า จิตไม่บริสุทธิ์ เพราะสะสมกิเลสต่างๆ ไว้มาก จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจเมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ และรู้สึกขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่นเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น รู้สึกอย่างไร

ความรู้สึกเฉยๆ ดีใจ เสียใจนั้น ไม่ใช่จิตเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกว่า เวทนาเจตสิกจิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่จิตไม่ใช่เวทนาเจตสิกซึ่งรู้สึกเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน จิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก เจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันนั้นดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดดับที่เดียวกัน จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีเจตสิกเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยต่างๆ กัน และกระทำกิจต่างๆ กัน ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็นหลายประเภท

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ