ที่จิตชื่อว่า มนายตนะ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6814
อ่าน  3,978

แม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงลักษณะของจิตในความหมายของคำว่า “ปัณฑระ” แล้ว เพื่อให้เข้าใจลักษณะของ จิตยิ่งขึ้น จึงทรงแสดงในความหมายของคำว่า “มนายตนะ”

ที่ (จิต) ชื่อว่า “มนายตนะ” อธิบายในคำว่ามนายตนะนั้น มนะ พึงทราบว่า อายตนะ เพราะความหมายว่า เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุมและเป็นเหตุ จริงดังนั้น แม้ผัสสะ เป็นต้น ย่อมเกิดในมนะนี้ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะภายนอก ย่อมประชุมที่มนะโดยความเป็นอารมณ์ แม้เพราะความหมายว่า เป็นเหตุเพราะ เป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้น โดยอรรถว่า เป็นสหชาตปัจจัย

จิตทุกขณะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ที่จะเข้าใจลักษณะซึ่งเป็นอนัตตาของจิตได้ยิ่งขึ้น ก็โดยรู้ว่าจิตเป็นมนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม และเป็นเหตุ ถึงรูปจะมีก็จริง ถึงเสียงจะเกิดขึ้นก็จริง ถึงกลิ่นจะมีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง ถึงรสต่างๆ จะมีก็จริง ถึงเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็งต่างๆ จะมีก็จริง แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ถ้าไม่เป็นที่ประชุมของธรรมเหล่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นก็ปรากฏไม่ได้ รสต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ปรากฏไม่ได้ แต่เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ จึงเป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุม เป็นเหตุที่จะให้สภาพธรรมปรากฏ สีสันวัณณะข้างหลังไม่ปรากฏ เพราะไม่ได้ประชุม คือ ไม่กระทบกับจักขุปสาท ไม่กระทบกับจิต จิตจึงไม่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลัง

แม้ว่ากรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทเกิดขึ้นและดับไปๆ สืบต่ออยู่เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ตาบอด แต่จิตที่เห็นก็ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้น ขณะใดที่สีสันวัณณะปรากฏ ขณะนั้นจิตเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของรูปที่กระทบกับจักขุปสาท ขณะนั้นรูปที่กระทบจักขุปสาทก็เป็นรูปายตนะ จักขุปสาทที่กระทบรูป ก็เป็นจักขายตนะ สภาพธรรมใด ที่ประชุมรวมกันในขณะนั้น เป็นอายตนะ แต่ละอายตนะทั้งสิ้น เสียงต้องกระทบกับโสตปสาท และกระทบกับจิต จิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงที่ปรากฏได้

ฉะนั้น จิตจึงเป็นมนายตนะ เป็นที่ประชุมของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 29 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ก.ไก่
วันที่ 14 พ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ