เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ
ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า...
แม้เพราะความหมายว่า (จิต) เป็นเหตุ คือ เพราะจิตเป็นเหตุแห่งผัสสะ เป็นต้นผัสสะเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งใน ๕๒ ประเภท ผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ ขณะที่รูปกระทบกับรูป เช่น ต้นไม้ล้มกระทบพื้นดิน การกระทบกันของต้นไม้และพื้นดินไม่ใช่ผัสสเจตสิก ขณะที่เสียงกระทบกับโสตปสาท โสตปสาทเป็นรูป เสียงเป็นรูป ถ้าผัสสเจตสิกไม่เกิดขึ้นกระทบเสียงที่กระทบโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย
ผัสสเจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ฉะนั้น จิตจึงเป็นเหตุแห่งผัสสะ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกต้องเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งเสมอ รูปใดเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก รูปนั้นเป็นวัตถุรูป จักขุปสาทเป็นวัตถุรูปเพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นโดยลำพังอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น