ทุติยอัจฉริยสูตร - ตติยอัจฉริยสูตร - ๐๕ ม.ค. ๒๕๕๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตรที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ ๕ ม.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น. คือ
๘. ทุติยอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า และ ๙. ตติยอัจฉริยสูตร ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระอานนท์
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔๐
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔๐
๘. ทุติยอัจฉริยสูตร
ว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระตถาคตเจ้า
[๑๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีอาลัย (คือกามคุณ) เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในอาลัย บันเทิงในอาลัย เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันหาความอาลัยมิได้อยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๑ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว) เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในมานะบันเทิงในนานะ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามมานะอยู่หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๒ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีแล้วในความไม่สงบ บันเทิงในความไม่สงบ เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันกระทำความสงบอยู่. หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เลยมีข้อที่ ๓ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา เป็นผู้มืด ถูกอวิชชารัดรึงไว้เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอัน เป็นเครื่องปราบปรามอวิชชาอยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๔ ย่อมปรากฏ เพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
จบทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔๑
อรรถกถาทุติยอัจฉริยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
เบญจกามคุณหรือวัฏฏะทั้งสิ้น ชื่อว่า อาลัย เพราะอรรถว่า พึงถูกตัณหาและทิฏฐิยึดไว้ ชื่อว่า อารามะ เพราะเป็นที่ยินดี อาลัยเป็นที่ยินดีของหมู่สัตว์นี้ เหตุนั้น หมู่สัตว์นี้จึงชื่ออาลยารามะมีอาลัยเป็นที่ยินดี ชื่อว่า อาลยรตะ เพราะยินดีแล้วในอาลัย ชื่อว่า อาลยสัมมุทิตะ เพราะบันเทิงแล้วในอาลัย.
บทว่า อนาลเย ธมฺเม ความว่า อริยธรรมอาศัยวิวัฏฏนิพพานที่ตรงกันข้ามกับอาลัย.
บทว่า สุสฺสุสติ คือเป็นผู้ใคร่จะฟัง.
บทว่า โสตํ โอทหติ แปลว่า เงี่ยโสต.
บทว่า อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐเปติ ความว่า เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรม.
บทว่า มาโน คือ ความสำคัญ หรือวัฏฏะทั้งสิ้นนั้นแลชื่อว่า มานะ เพราะอรรถว่าหมู่สัตว์พึงสำคัญ.
บทว่า มานวินเย ธมฺเม คือธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดเสียซึ่งมานะ. ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความสงบ ชื่อว่า อนุปสมณะหรือวัฏฏะ นั่นเอง ชื่อว่า อนุปสมะ เพราะอรรถว่าไม่สงบแล้ว.
บทว่า โอปสมิเก ได้แก่ ธรรมที่ทำความสงบคืออาศัยวิวัฏฏะคือนิพพาน ชื่อว่า อวิชชาคตะ เพราะไปคือประกอบด้วยอวิชชา ชื่อว่า อันธภูตะ เพราะเป็นดุจคนตาบอด เพราะถูกกองมืดคืออวิชชาปกคลุมไว้. ชื่อว่า ปรโยนัทธา เพราะหุ้มไว้รอบด้าน.
ในบทว่า อวิชฺชาวินเย พระอรหัตเรียกว่าธรรมเป็นเครื่องกำจัดอวิชชา เมื่อธรรมที่อาศัยธรรมเป็นเครื่องกำจัดอวิชชานั้น อันพระตถาคตแสดงอยู่ ในสูตรนี้ตรัสวัฏฏะไว้ ๔ ฐานะ ตรัสวิวัฏฏะไว้ ๔ ฐานะ ด้วยประการฉะนี้
จบอรรถกถาทุติยอัจฉริยสูตรที่ ๘
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๔๒
๙. ตติยอัจฉริยสูตรว่าด้วยความอัศจรรย์ ๔ ในพระอานนท์
[๑๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้ ในพระ-อานนท์ ๔ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์ ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยการเห็น ถ้าอานนท์กล่าวธรรมในบริษัทนั้น ภิกษุบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยคำที่ กล่าวนั้น ภิกษุบริษัทนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าอานนท์เป็นผู้นิ่ง. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์... ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์... ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าไปเพื่อเห็นอานนท์ อุบาสิกาบริษัทนั้นย่อมมีใจยินดี แม้ด้วยการเห็น ถ้าอานนท์กล่าวธรรมในบริษัทนั้น อุบาสิกาบริษัทนั้น ย่อมมีใจยินดีแม้ด้วยคำที่กล่าวนั้น อุบาสิกาบริษัทนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มเลย ถ้าอานนท์เป็นผู้นิ่ง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการนี้แล ในพระอานนท์.
จบตติยอัจฉริยสูตรที่ ๙
อรรถกถาตติยอัจฉริยสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในตติยอัจฉริยสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-บทว่า ภิกฺขุปริสา อานนฺทํ ทสฺสนาย ความว่า ภิกษุเหล่าใดประสงค์จะเฝ้าพระผู้มี-พระภาคเจ้า ก็เข้าไปหาพระเถระ หรือภิกษุเหล่าใดได้ฟังคุณความดีของพระเถระว่าได้ยินว่า ท่านพระอานนท์น่าเลื่อมใสรอบด้าน งานน่าชม เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึกผู้ทำหมู่ให้งามดังนี้ จึงพากันมา ทรงหมายถึงภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า ภิกษุบริษัทไปเยี่ยมอานนท์ ดังนี้ . ในบททุกบทก็นัยนี้. บทว่า อตฺตมนา ความว่า ภิกษุบริษัทนั้นมีใจชื่นชม คือมีจิตยินดีว่า การเห็นของเราสมกับการฟังมา. บทว่า ธมฺมํ ความว่า ท่านกล่าวธรรมต้อนรับเห็นปานนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายสบายดีหรือ พอยังชีพเป็นไปได้อยู่หรือ ท่านทั้งหลายยังทำกิจกรรมในโยนิโสมนสิการอยู่หรือ ท่านยังบำเพ็ญอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรอยู่หรือดังนี้. บรรดาบุคคลเหล่านั้นในภิกษุณีก็จะกล่าวปฏิสันถารต่างกันดังนี้ว่า น้องหญิงทั้งหลาย ท่านทั้งหลายยังสมาทานครุธรรม ๘ ประพฤติอยู่หรือดังนี้. ในอุบาสกทั้งหลาย ท่านจะไม่ทำปฏิสันการอย่างนี้ ด้วยคำว่า อุบาสกมาดีแล้ว ท่านไม่ปวดศีรษะ หรืออวัยวะบ้างหรือ บุตรพี่น้องชายของท่านไม่มีโรคภัยหรือดังนี้ แต่ท่านจะทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า อุบาสกเป็นอย่างไร จงรักษาสรณะ ๓ ศีล ๕ จงทำอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้งไว้เถิด จงเลี้ยงดูมารดาบิดา จงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมเถิดดังนี้. แม้ในอุบาสิกาทั้งหลายก็นัยนี้แล.
จบอรรถกถาตติยอัจฉริยสูตรที่ ๙
ฏีกา ทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
ในทุติยตถาคตอัจฉริยสูตรที่ ๘ มีอรรถาธิบายดังนี้
ที่ท่านเรียกกามคุณ ๕ ประการว่า อาลัย เพราะเป็นธรรมที่เหล่าสัตว์ติดคือ ซ่องเสพ โดยความหมายว่า เป็นธรรมที่น่ายินดียิ่ง คำว่า ย่อมยินดี หมายความว่า ประสบความยินดี เพลิดเพลิน สนุกสนาน อีกนัยหนึ่ง ตัณหาวิจริต (ตัณหาที่ซ่านไป) ชื่อว่า อาลัย (เป็นเหตุยินดี) เพราะความหมายว่า หมู่สัตว์ย่อมติด คือ เมื่อติดอยู่ ชื่อว่า ย่อมซ่องเสพ ด้วยอำนาจความยินดีฯ หมู่สัตว์ จึงชื่อว่า อาลยารามา ผู้ยินดี เพราะอาลัยเหล่านั้น ฯ
เปรียบเหมือนว่า พระราชา เสด็จประพาสราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้ซึ่งเต็มไปด้วยดอกผลเป็นต้น มหาดเล็กจัดเตรียมถวายดีแล้ว, เพราะความสมบูรณ์นั้นจึงทรงสำราญ, ทรงบันเทิงพร้อม ทั้งทรงร่าเริงยินดี, ไม่ทรงเบื่อหน่าย, แม้ถึงเวลาเย็น ก็ไม่ทรงประสงค์เสด็จออก ฉันใด, สัตว์ทั้งหลายก็เหมือนฉันนั้น เพราะอาลัยคือกามคุณและอาลัยคือตัณหาเหล่านี้ จึงยินดี บันเทิง ไม่เบื่อหน่าย ย่อมอาศัยอยู่ ในวัฏฏะฯ
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงแสดงอาลัยสองประการนั้นแห่งหมู่สัตว์เหล่านั้น ให้เป็นเหมือนกับภาคพื้นแห่งอุทยาน จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีอาลัย เป็นที่รื่นรมย์ ดังนี้เป็นต้นไว้ ฯ ข้อความที่เหลือมีความหมายไม่ลึกซึ้งฯ
จบ ฏีกาทุติยตถาคตอัจฉริยสูตร
ฏีกา อานันทอัจฉริยสูตร
ในอานันทอัจฉริยสูตรที่ ๙ มีอรรถาธิบาย ดังนี้
คำว่า ธรรมต้อนรับ นี้เป็นคำที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้โดยเป็นข้อประพฤติตามปกติ, แต่ท่านพระอานนท์ ย่อมแสดงธรรมตามกาลนั่นเทียว แก่ภิกษุและภิกษุณีผู้เข้ามาหาท่าน โดยเป็นการตอบคำถามบ้าง, โดยเป็นความประสงค์ของท่านบ้าง, สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ก็โดยกถาอันสมควรแก่ผู้นั่งใกล้ (ผู้เข้าไปหา) ฯ
จบ ฏีกาอานันทอัจฉริยสูตร
หมายเหตุ ฏีกาทุติยตถาคตอัจฉริยสูตรและฏีกาอานันทอัจฉริยสูตรนี้ แปลจากคัมภีร์สารัตถมัญชุสา อังคุตรฏีกา ทุติยภาค หน้า ๔๑๕ - ๖ ฉบับมหาจุฬา ฯ