ประกาศพระสรณตรัย
[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 19
สรณคมน์ในขุททกปาฐะว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัย
ประกาศด้วยข้ออุปมา
บัดนี้ จะกล่าวอธิบายคำที่ว่าจะประกาศพระสรณตรัยนั้นด้วยข้ออุปมาทั้งหลาย ก็ในคำนั้น...
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ
พระธรรม เปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญที่ทำให้เกิดขึ้น
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ
พระธรรม ดังกล่าวเปรียบเหมือนข่ายรัศมีของดวงอาทิตย์นั้น
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้นกำจัดมืดแล้ว
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนคนเผาป่า
พระธรรม เครื่องเผาป่าคือกิเลส เปรียบเหมือนไฟเผาป่า
พระสงฆ์ ที่เป็นบุญเขต เพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบ เหมือนภูมิภาคที่เป็นเขตนา เพราะเผาป่าเสียแล้ว
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่
พระธรรม เปรียบเหมือนน้ำฝน
พระสงฆ์ ผู้ระงับละอองกิเลสเปรียบเหมือนชนบทที่ระงับ ละอองฝุ่นเพราะฝนตก.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนสารถีที่ดี
พระธรรม เปรียบเหมือนอุบายฝึกม้าอาชาไนย
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ฝึกมาดีแล้ว.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนศัลยแพทย์ [หมอผ่าตัด] เพราะทรง ถอนลูกศรคือทิฏฐิได้หมด
พระธรรม เปรียบเหมือนอุบายที่ถอนลูกศรออกได้
พระสงฆ์ ผู้ถอนลูกศรคือทิฏฐิออกแล้ว เปรียบเหมือนชนที่ถูก ถอนลูกศรออกแล้ว.
อีกนัยหนึ่ง...
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนจักษุแพทย์ เพราะทรงลอกพื้นชั้นโมหะ ออกได้แล้ว
พระธรรม เปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้น [ตา]
พระสงฆ์ ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีดวงตาคือญาณอันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้ว มีดวงตาสดใส
อีกนัยหนึ่ง...
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาด เพราะทรงสามารถกำจัด พยาธิคือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัยออกได้
พระธรรม เปรียบเหมือนเภสัชยาที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว
พระสงฆ์ ผู้มีพยาธิคือกิเลสและอนุสัยอันระงับแล้วเปรียบเหมือน หมู่ชนที่พยาธิระงับแล้ว เพราะประกอบยา
อีกนัยหนึ่ง...
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง
พระธรรม เปรียบเหมือนทางดี หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนผู้เดินทาง ถึงที่ที่ปลอดภัย
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนนายเรือที่ดี
พระธรรม เปรียบเหมือนเรือ
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้เดินทางถึงฝั่ง.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนป่าหิมพานต์
พระธรรม เปรียบเหมือนโอสถยาที่เกิดแต่ป่าหิมพานต์นั้น
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้ไม่มีโรคเพราะใช้ยา.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนผู้ประทานทรัพย์
พระธรรม เปรียบเหมือนทรัพย์
พระสงฆ์ ผู้ได้อริยทรัพย์มาโดยชอบ เปรียบเหมือนชนผู้ได้ทรัพย์ตามที่ประสงค์.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์
พระธรรม เปรียบเหมือนขุมทรัพย์
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์.
อีกนัยหนึ่ง...
พระพุทธเจ้า ผู้เป็นวีรบุรุษเปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย
พระธรรม เปรียบเหมือนไม่มีภัย
พระสงฆ์ ผู้ล่วงภัยทุกอย่าง เปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนผู้ปลอบ
พระธรรม เปรียบเหมือนการปลอบ
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนมิตรดี
พระธรรม เปรียบเหมือนคำสอนที่เป็นหิตประโยชน์
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตน เพราะประกอบหิตประโยชน์.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนบ่อเกิดทรัพย์
พระธรรม เปรียบเหมือนทรัพย์ที่เป็นสาระ
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระ
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนผู้ทรงสรงสนานพระราชกุมาร
พระธรรม เปรียบเหมือนน้ำที่สนานตลอดพระเศียร
พระสงฆ์ ผู้สรงสนานดีแล้วด้วยน้ำคือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนหมู่ พระราชกุมารที่สรงสนานดีแล้ว
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ
พระธรรม เปรียบเหมือนเครื่องประดับ
พระสงฆ์ ผู้ประดับด้วยพระสัทธรรมเปรียบเหมือนหมู่พระราชโอรสที่ ทรงประดับแล้ว.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนต้นจันทน์
พระธรรม เปรียบเหมือนกลิ่นอันเกิดแต่ต้นจันทน์นั้น
พระสงฆ์ ผู้ระงับความเร่าร้อนได้สิ้นเชิงเพราะอุปโภคใช้พระสัทธรรม เปรียบเหมือนชนผู้ระงับความร้อนเพราะใช้จันทน์
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนบิดามอบมฤดกโดยธรรม
พระธรรม เปรียบเหมือนมฤดก
พระสงฆ์ ผู้สืบมฤดกดือพระสัทธรรม เปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมฤดก.
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนดอกปทุมที่บาน
พระธรรม เปรียบเหมือนน้ำหวานที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำหวานนั้น.
พึงประกาศพระสรณตรัยนั้น ด้วยข้ออุปมาทั้งหลายดังกล่าวมาฉะนี้. มาติกาหัวข้อของกถาพรรณนาความที่ยกตั้งไว้ในเบื้องต้นด้วย ๔ คาถาว่า พระสรณตรัย ใครกล่าว กล่าวที่ไหน กล่าวเมื่อไร กล่าวเพราะเหตุไรเป็นต้น ก็เป็นอันประกาศแล้วโดยอรรถ ด้วยกถามีประมาณเพียงเท่านี้แล.
จบกถาพรรณนาพระสรณตรัยอรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา
ในตัวกระทู้ รูปที่ 4 คนเผาป่า มีข้อความว่า
พระสงฆ์ ที่เป็นบุญเขต เพราะเผากิเลสได้แล้ว เปรียบเหมือน ภูมิภาคที่เป็นเขตนา เพราะเผา ห่า เสียแล้ว.
ห่า ในที่นี้คืออะไรครับ
ในความเห็นที่ 4 ข้อความว่า
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนดอกปทุมที่ปาน
พระธรรม เปรียบเหมือน น้ำอ้อย ที่เกิดจากดอกปทุมที่บานนั้น
พระสงฆ์ เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกิน น้ำอ้อย นั้น
น้ำอ้อย ในที่นี้ คงหมายถึงน้ำหวานจากดอกบัว
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณครับ
ขอพระสัทธรรมอันงดงาม บังเกิดแต่ดอกบัว
คือพระโอษฐ์ของพระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ทำให้ใจของท่านเบิกบาน
พระธรรมจะงดงาม เมื่อผู้ศึกษาเข้าใจจริงๆ น้อมประพฤติตามด้วยความจริงใจและต้องเป็นผู้ตรงค่ะ ไม่เข้าข้างตัวเอง เพราะกุศลคือกุศล อกุศลคืออกุศลซึ่งเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตน และตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตนมิใช่เรื่องที่จะขอให้กันได้ ผู้ศึกษาจึงควรพิจารณาตนเองเป็นสำคัญ