จตุธาตุววัฏฐาน
จตุธาตุววัฏฐาน
จตุ (สี่) + ธาตุ (สภาพที่ทรงไว้) + ววฏฺฐาน (การกำหนด)
การกำหนดธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม หมายถึง สมถภาวนาอารมณ์หนึ่ง ในอารมณ์ ๔๐ อย่าง เป็นการอบรมจิตให้สงบจากกิเลสโดยการพิจารณาวิเคราะห์กายนี้ เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ คือ
- พิจารณาอวัยวะส่วนที่เข้นแข็ง หรืออ่อนในร่างกาย มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นเพียงธาตุดินเท่านั้น
- ส่วนที่เอิบอาบหรือเกาะกุม มีน้ำเลือด น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น เป็นแต่เพียงธาตุน้ำเท่านั้น
- ส่วนที่ร้อนหรือเย็น มีไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่เผาผลาญอาหาร เป็นต้น เป็นเพียงแต่ธาตุไฟเท่านั้น
- ส่วนที่ไหวหรือเคร่งตึง มีลมหายใจเข้าออก ลมที่พัดขึ้นลงและทำให้ร่างกายไหว เป็นต้น ก็เป็นเพียงแต่ธาตุลมเท่านั้น หาความเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้ภายในร่างกายนี้ เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอย่างนี้แล้วๆ เล่าๆ จิตย่อมสงบจนถึงขั้นอุปจารสมาธิไม่ถึงอัปปนาสมาธิ เพราะมีสภาวธรรมเป็นอารม
จตุธาตุววัฏฐาน มีสภาวลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอารมณ์ก็จริง แต่ก็เป็นสมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา เพราะการคิดพิจารณาถึงลักษณะของธาตุทั้ง ๔ ต่างจากวิปัสสนา คือ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามหรือรูป ตามแต่สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้ระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด โดยความเป็นอนัตตาไม่มีการเลือกอารมณ์