จินตามยปัญญา
จินตามยปัญญา
จินฺตา (ความดำริ ความนึกคิด) + มย (สำเร็จ) + ปญฺญา (ความรู้)
ปัญญาที่สำเร็จจากการคิดพิจารณา หมายถึง ปัญญาที่ไม่ได้ฟังจากผู้อื่นมา แต่สำเร็จโดยลำพังความคิดของตนเอง เช่น ปัญญาของพระโพสัตว์ที่พิจารณารู้ว่า เมื่อมีความเกิดก็ต้องมีความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเป็นทุกข์ ฉะนั้น ก็ต้องมีความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ และความไม่ตาย ซึ่งเป็นสุข จึงเริ่มอบรมบารมีเพื่อถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ซึ่งเป็นบรมสุข หรือปัญญาของผู้ที่ใคร่ครวญ พิจารณาตามเหตุผล และมีความเห็น มีความเชื่อว่าบาปบุญมีจริง สัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากกรรม และมีกรรมเป็นของๆ ตน (กัมมสกตาญาณ)
ประโยค๙ - อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวีนีฎีกา - หน้าที่ 376
แท้จริงบัณฑิตเชื่อในพระผู้มีพระภาคว่าพระผู้มีพระภาคทรงทราบสมรรถภาพพิเศษแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาการทุกอย่างจึงทรงแสดงปัจจัย ๒๔ ไว้ดังนี้ ควรทำ สุตมยญาณ ให้เกิดขึ้นว่า ธรรมเหล่านี้มีความพิเศษอย่างนี้ แล้วทำความพากเพียรเพื่อตรัสรู้ความพิเศษแห่งปัจจัยนั้นด้วยจินตามยญาณ และภาวนายญาณฯ