อุโบสถศีล ศีล 8 อาชีวมิฏฐกศีล
คำว่า อาชีวมิฏฐกศีล อาชีวัฏฐกศีล ควรใช้คำไหนถึงถูก และหมายถึงศีลอะไร การถือศีลอุโบสถ หรือศีล ๘ กับ อาชีวมิฏฐกศีล เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ในพระไตรปิฎก ไม่มีคำว่า อาชีวมิฏฐกศีลและอาชีวัฏฐกศีล มีแต่คำว่าอาชีวมัฏฐมกศีลและ อาชีวัฏฐมกศีล ปกติมักใช้คำว่า อาชีวัฏฐมกศีล อาชีวัฏฐมกศีล หมายถึงศีลมีอาชีวะเป็นที่แปด คือประกอบด้วยกายสุจริต ๓ (งดเว้นฆ่าสัตว์สัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) วจีสุจริต ๔ (งดเว้นจากการพูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ) และอาชีวะเป็นที่ ๘ คือ งดเว้นจากอาชีพที่ไม่ดี
การถือศีลอุโบสถ หรือศีล ๘ กับ อาชีวมิฏฐกศีล เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างในการขัดเกลากิเลสในแต่ละอย่าง และองค์ของศีล และเวลาซึ่งตามปกติมักนิยมถือศีลอุโบสถในวันพระหรือก่อนหรือหลังวันพระหนึ่งวัน แต่อาชีวมิฏฐกศีลสามารถรักษาเมื่อเห็นประโยชน์ในวันไหนก็ได้ครับ แต่ที่สำคัญการรักษาศีลนั้นจะต้องมีความเข้าใจถูกต้องจึงจะรักษาได้ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ หากมีความเห็นผิด เข้าใจธรรมผิดก็ย่อมรักษาได้ไม่ถูกต้อง เช่น อาชีวัฏฐมกศีล ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมและประพฤติบริสุทธิ์ ในการงดเว้นจากทางกายและวาจาที่ทุจริต เป็นผู้มีกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ จึงจะเป็นรักษาอาชีวมิฏฐกศีลได้ถูกต้อง อันมีการงดเว้นอาชีพที่ผิดเป็นที่แปด และการจะรู้ว่าใครเป็นผู้มีศีลนั้น บุคคลนั้นต้องมีปัญญาไม่ใช่เพียงเวลาเล็กน้อย เป็นต้น
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่..
อาชีวัฏฐมกศีล ย่อมบริบูรณ์ถูกต้องเพราะละกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๑๑
ก็อาชีวัฏฐมกศีล ย่อมบริบูรณ์แก่บุคคลผู้ละวจีทุจริต ๔ อย่างและกายทุจริต ๓ อย่าง บำเพ็ญสุจริตทั้ง ๒ อย่างเท่านั้น หาบริบูรณ์แก่บุคคลนอกนี้ไม่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาอาชีวะในลำดับแห่งสุจริตทั้ง ๒ นั้น
ศีลพึงรู้ได้ไม่ใช่เพราะบอกว่ารักษาศีลหรือมีศีลแต่รู้ว่ามีศีลเพราะ....
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๕๓
ดูก่อนมหาบพิตร ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้นจะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์