บุรุษรื้ออิฐ หรือ ช่างก่ออิฐ
ขณะที่กำลังฟังหรือศึกษาเรื่องของจิตนั้น ถ้าสติปัฎฐานระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ขณะนั้นกำลังปฎิบัติ คือ อบรมเจริญหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้ ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นถึงแม้ว่าเป็นกุศล...ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส
ซึ่งข้อความในอัฎฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า อาจยคามี ว่า อกุศลและกุศลที่ไม่ใช่มรรค ชื่อว่า อาจยคามี เพราะอรรถว่า ไปก่อธรรมที่เป็นเสมือนช่างอิฐก่อกำแพง ฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอกุศลใดๆ ก็สะสมก่อสร้างภพชาติเหมือนช่างอิฐที่ก่อกำแพงด้วยอิฐทีละแผ่นซ้อนทับกันจนกระทั่งเป็นกำแพง แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นมรรคเป็น อปจยคามี เพราะอรรถว่า ไม่ไปก่อธรรมที่เป็นไปนั้นแหละเหมือนบุรุษรื้ออิฐก่อทับกันไว้ ฉะนั้น ขณะนี้กำลังเป็น บุรุษรื้ออิฐ หรือกำลังเป็น ช่างก่ออิฐ
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป