พระธาตุ - พระพุทธคุณ [โทณสูตร]

 
สารธรรม
วันที่  6 ก.พ. 2551
หมายเลข  7252
อ่าน  1,258

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 137

๖. โทณสูตร

ว่าด้วยโทณพราหมณ์ทูลถามปัญหา

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลอยู่ในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ แม้โทณพราหมณ์ก็เดินทางไกล อยู่ในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้เห็นรูปจักรในรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประกอบด้วยซี่กำนับ ๑,๐๐๐ มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยลักษณาการพร้อมสรรพ เห็นประหลาดไม่เคยมี ชะรอยจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จแวะไปประทับอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้จำเพาะหน้า. โทณพราหมณ์เดินตามรอยพระบาทไป พบพระองค์ ดูผุดผ่องน่าเลื่อมใส อินทรีย์สงบ มีพระทัยอันสงบ ได้รับการฝึกฝนและความสงบอย่างยอดเยี่ยม มีตนฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ครั้นแล้ว จึงเข้าไปใกล้แล้วทูลถามว่า ...ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ.

พ. ตรัสตอบว่า เราไม่เป็นเทวดา พราหมณ์.โทณ. เป็นคนธรรพ์หรือ.พ. ไม่เป็น.โทณ. เป็นยักษ์กระมัง.พ. ไม่เป็น.โทณ. เป็นมนุษย์สิ.พ. ไม่เป็น.โทณ. ข้าพเจ้าถามว่า ท่านเป็นเทวดา... เป็นคนธรรพ์... เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่า ไม่เป็นๆ ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นใครกัน.พ. พราหมณ์ เราจะพึงเป็นเทวดา...เป็นคนธรรพ์...เป็นยักษ์... เป็นมนุษย์ เพราะอาสวะเหล่าใด ที่เราละไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอัน ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี่แน่ะพราหมณ์ ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ขึ้นมาตั้งอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้นเกิดในโลก เติบใหญ่มาในโลก แต่เราอยู่เหนือโลก โลกไม่เข้ามากำซาบ (ใจเรา) ได้ แน่ะ พราหมณ์ ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ

เราจะพึงได้กำเนิดเป็นเทวดา หรือว่าเป็นคนธรรพ์ผู้เหาะเหินได้ เพราะอาสวะใดเราจะพึงได้อัตภาพยักษ์ และอัตภาพมนุษย์เพราะอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเราสิ้นไปแล้ว เราทำลาย ทำให้ขาดสายแล้ว. แน่ะพราหมณ์ ดอกบัวย่อมขึ้นมาอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น โลกไม่เข้ามากำซาบใจเราได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็น พุทธะ.

จบโทณสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สารธรรม
วันที่ 6 ก.พ. 2551

ข้อความบางตอนจาก...

อรรถกถาโทณสูตร

บทว่า อทฺธานมคฺคปฏิปนฺโน โหติ คือ ทรงเดินทางไกล อธิบายว่า ทางยาว. ถามว่า ทรงเดินทางไกล เพราะเหตุไร. ตอบว่า ได้ยินว่าในวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า เมื่อเราเดินไปทางนั้น โทณพราหมณ์เห็นเจดีย์ คือ รอยเท้าของเรา ก็จะแกะรอยตามมาถึงที่เรานั่งแล้วถามปัญหา เมื่อเป็นดังนั้น เราจักแสดงสัจ-ธรรมแก่เขาอย่างนี้ พราหมณ์จักแทงตลอดสามัญญผลสามได้แล้ว จักพรรณนาคุณชื่อโทณคัชชิตะ หนึ่งหมื่นสองพันบท เมื่อเราปรินิพพานแล้ว จักระงับการทะเลาะอย่างใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วชมพูทวีปแล้ว จึงจักแบ่งพระธาตุทั้งหลายกัน ดังนี้ จึงทรงเดินทางด้วยเหตุนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
สารธรรม
วันที่ 6 ก.พ. 2551

................บทว่า ปาเทสุ ได้แก่ ในรอยที่ทรงเหยียบด้วยพระบาท. บทว่า จกฺกานิ ได้แก่ จักกลักษณะ (รูปจักร) . ถามว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำเนินอยู่ รอยพระบาทปรากฏในที่ที่ทรงเหยียบไว้หรือ. ตอบว่า ไม่ปรากฏดอก. เพราะอะไร. เพราะรอยพระบาทละเอียด มีกำลังมาก และเพราะจะอนุเคราะห์มหาชน. จริงอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีพระฉวีละเอียด สถานที่ทรงเหยียบ เป็นเหมือนสถานที่ปุ่ยนุ่นตั้งอยู่ รอยพระบาทจึงไม่ปรากฏ. รอยที่ตถาคตทรงเหยียบ ก็เป็นสักแต่ว่าเหยียบเท่านั้น รอยพระบาทจึงไม่ปรากฏในที่นั้น เพราะพระองค์เป็นผู้มีกำลังมาก เหมือนรอยเท้าของม้าสินธพมีฝีเท้าเร็วดุจลม มีกำลังเหยียบแม้บนใบของกอประทุม ก็สักว่าเหยียบเท่านั้น ฉะนั้น. ส่วนหมู่มหาชน เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไป เมื่อมหาชนนั้น เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาก็ไม่อาจจะเดินเหยียบทับ พึงเดินเลี่ยงไปเสีย. เพราะฉะนั้น รอยพระบาทแม้ใดพึงมีในที่ทรงเหยียบแล้ว รอยพระบาทนั้นก็หายไปทันที. ฝ่ายโทณพราหมณ์เห็นได้ด้วยอำนาจอธิษฐานของพระตถาคต แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประสงค์จะแสดงเจดีย์ คือ พระบาทแก่ผู้ใด ปรารภถึงผู้นั้น ทรงอธิษฐานว่า คนชื่อโน้นจงเห็นดังนี้ เพราะฉะนั้น แม้พราหมณ์นี้ได้เห็นก็ด้วยอำนาจอธิษฐานของพระตถาคต เหมือนมาคัณฑิยพราหมณ์.

.................บทว่า ปหีนา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ด้วยการบรรลุสัพ-พัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์. บทว่า อนูปลิตฺโต โลเกน ความว่า โลก คือ สังขาร-โลกเข้ามา กำซาบใจเราไม่ได้เพราะเราละเครื่องลูบไล้คือตัณหาและทิฏฐิเสียแล้ว.บทว่า พุทฺโธ ความว่า ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ เพราะตรัสรู้สัจจะ ๔ ดังนี้.
..................บทว่า ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พฺราหฺมณ ความว่า เวลาจบเทศนา พราหมณ์ บรรลุผลสามแล้วจึงกล่าวคุณ ชื่อว่า โทณคัชชิตะ (เสียงกระหึมของโทณพราหมณ์) ด้วยคาถา ๑๒,๐๐๐ บท ก็เมื่อพระตถาคต ปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ระงับความทะเลาะอย่างใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วพื้นชมพูทวีปแล้ว จึงได้แบ่งซึ่งพระธาตุทั้งหลายแก่กัน ดังพรรณนามานี้.

จบอรรถกถาโทณสูตรที่ ๖

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aiatien
วันที่ 6 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
dron
วันที่ 6 ก.พ. 2551
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 6 ก.พ. 2551

เป็นพระสูตรที่ไพเราะลึกซึ้งมากครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.พ. 2551

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ไกลแล้วจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ทรงถึงพร้อม

ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว คือนิพพาน เสด็จไปโดยชอบ คือกิเลสที่ทรงละแล้ว

ไม่หวนกลับมาอีก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 7 ก.พ. 2551

อนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ก.พ. 2551

การได้เห็นพระธาตุ เป็นเหตุปัจจัยให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณทุกประการ โดยเฉพาะพระปัจฉิมโอวาท.........
"....สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด."

(จงยังกิจทั้งปวงให้สำเร็จด้วยความไม่ปราศจาก"สติ")
......................และขออนุโมทนาใน"วิริยะ"ของคุณสารธรรม........................
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 7 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนา ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 16 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ