เรื่องปัญหาท่านพระอานนท์เถระ - ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  11 ก.พ. 2551
หมายเลข  7309
อ่าน  2,951

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๔. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๑๕๑]

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 331



[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 331

๔. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๑๕๑] ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภปัญหาของพระอานนทเถระตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " สพฺพปาปสฺส อกรณํ " เป็นต้น. กาลแห่งพระพุทธเจ้าต่างกัน แต่คำสอนเหมือนกัน

ได้ยินว่า พระเถระนั่งในที่พักกลางวัน คิดว่า " พระศาสดาตรัสบอกเหตุแห่งพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ทุกอย่าง คือ พระชนนีและพระชนก การกำหนดพระชนมายุไม้เป็นที่ตรัสรู้ สาวกสันนิบาต อัครสาวกอุปัฏฐาก. แต่อุโบสถมิได้ตรัสบอกไว้;อุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นเหมือนอย่างนี้ หรือเป็นอย่างอื่น. " ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถามเนื้อความนั้น. ก็เพระความแตกต่างแห่งกาลแห่งพระ-พุทธเจ้าเหล่านั้นเท่านั้น ได้มีแล้ว, ความแตกต่างแห่งคาถาไม่มี; ด้วยว่า พระสัม-มาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ได้ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๗ ปี, เพราะพระโอ-วาทที่พระองค์ประทานแล้วในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้๗ปี, พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขีและเวสสภู ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๖ ปี. (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้นพอไปได้ ๖ ปี) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ และ โกนาคมนะ ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ปี, (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์นั้น ทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ปีหนึ่งๆ ) ; พระกัสสปทสพล ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ๖ เดือน, เพราะพระโอวาทที่พระองค์ทรงประทานในวันหนึ่ง พอไปได้ ๖ เดือน; ฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสความแตกต่างกันแห่งกาลนี้ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า " ส่วนโอวาทคาถาของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นอย่างนี้นี่แหละ." ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงกระทำอุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ซึ่งเป็นอันเดียวกันทั้งนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :- ๔. สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต. อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ. " ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึง พร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอน ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ความอดทนคือความอด กลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม, ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ. ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบ โดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย. "


[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 333

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลกรรมทุกชนิด. การยังกุศลให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ออกบวชจนถึงพระอรหัตตมรรค และการยังกุศลที่ตนให้เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ชื่อว่า อุปสมฺปทา. การยังจิตของตนให้ผ่องใสจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่าสจิตฺตปริโยทปนํ.

บาทพระคาถาว่า เอตํ พุทฺธานสาสนํ๑ โดยอรรถว่า นี้เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์. บทว่า ขนฺติ ความว่า ขึ้นชื่อว่าความอดทน กล่าวคือ ความอดกลั้นนี้ เป็นตบะอย่างยอดยิ่ง คืออย่างสูงสุดในพระศาสนานี้. บาทพระคาถาว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ความว่า พุทธบุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ คือ พระพุทธะจำพวก ๑ พระปัจเจกพุทธะจำพวก ๑ พระอนุพุทธะจำพวก ๑ ย่อมกล่าวพระนิพพานว่า " เป็นธรรมชาติอันสูงสุด. " บทว่า น หิ ปพฺพชิโต โดยความว่า บุคคลผู้ที่ล้างผลาญ บีบคั้น สัตว์อื่นอยู่ด้วยเครื่องประหารต่างๆ มีฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต.บทว่า สมโณ ความว่า บุคคลผู้ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วยเหมือนกัน. การไม่ติเตียนเอง และการไม่ยังผู้อื่นให้ติเตียนชื่อว่า อนูปวาโท. การไม่ทำร้ายเอง และการไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำร้าย ชื่อว่า อนูปฆาโต. บทว่า ปาติโมกฺเข ได้แก่ ศีลที่เป็นประธาน. การปิด ชื่อว่า สํวโร. ความเป็นผู้รู้จักพอดี คือความรู้จักประมาณ ชื่อว่า มตฺตญฺญุตา. บทว่า ปนฺติ ได้แก่ เงียบ. บทว่าอธิจิตฺเต ความว่า ในจิตอันยิ่ง กล่าวคือ จิตที่สหรคตด้วยสมาบัติ ๘. การกระทำความเพียร ชื่อว่า อาโยโค. บทว่า เอตํ ความว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์. ก็ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลอันเป็นไปทางวาจา ด้วยอนูปวาทตรัสศีลอันเป็นไปทางกาย ด้วยอนูปฆาต. ตรัสปาติโมกขสีลกับอินทริย-สังวรสีล ด้วยคำนี้ว่า ปาติโมกฺเข จ สํวโร. ตรัสอาชีวปาริสุทธิสีลและปัจจัยสันนิสิต-สีล ด้วยมัตตัญญุตา, ตรัสเสนาสนะอันสัปปายะ ด้วยปันตเสนาสนะ, ตรัสสมาบัติ ๘ด้วยอธิจิต. ด้วยประการนี้ สิกขาแม้ทั้ง ๓ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสแล้วด้วยพระคาถานี้ทีเดียว ฉะนี้แล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นฉะนี้แล.

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ จบ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 11 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 12 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
spob
วันที่ 13 ก.พ. 2551

เนื่องจากว่า ในเรื่อง "ปัญหาของพระอานนทเถระ" นี้ เป็นคำอธิบายประกอบคาถาพระธัมมบทที่ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ เป็นต้น ซึ่งเป็นคาถาที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดีในนามว่า โอวาทปาฏิโมกข์ และเป็นคาถาที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในวันเพ็ญเดือน๓ หรือ วันมาฆะบูชา ฯ อนึ่ง คาถานี้ นอกจากจะปรากฏในธัมมปทคาถาแล้ว ยังปรากฏในทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตรอีก ซึ่งในอรรถกถาแห่งมหาปทานสูตรนั้น ได้อธิบายเนื้อความของคาถานี้ไว้ละเอียดกว่าธัมมปทัฏฐกถา นอกจากนี้ ในคัมภีร์ฏีกามหาปทานสูตรนั้น ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก ดังนั้น จึงได้นำพระบาลีมหาปทานสูตร พร้อมอรรถกถาและฏีกา มาลงประกอบไว้ เพื่อความแจ่มชัดของคาถามาฆบูชา อีกทางหนึ่งด้วยฯ อนึ่ง เนื่องจากรูปศํพท์สำนวนในคัมภีร์ฏีกาของสูตรนี้ มีความลึกซึ้งพิสดาร จึงอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง กระผมต้องขอโอกาสท่านสหายธรรมผู้รู้ที่ได้มีโอกาสอ่าน ช่วยติติงข้อผิดพลาดในการแปลนี้ด้วย ครับ

มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (บางส่วน)

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้ ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้ง หลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะเลย. การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิต ของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมใน พระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

อรรถกถามหาปทานสูตร (บางส่วน เฉพาะคาถามาฆบูชา)

บทว่า ขนฺตี ปรม ตโป ความว่า ขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง. บทว่า ตีติกฺขา เป็นไวพจน์ของขันตินั้นแหละ. อธิบายว่า อธิวาสนขันติ กล่าวคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างสูงสุด. บทว่า นิพฺพาน ปรม ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่งโดยอาการทั้งปวง. บทว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ความว่า ผู้ใดเข้าไปทำร้ายรบกวนและเบียดเบียนผู้อื่น เพราะเว้นจากอธิวาสนขันติ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต. ก็บาทที่ ๔ เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นเอง. บทว่า น สมโณ โหติ เป็นไวพจน์ของบทนี้ว่า น หิ ปพฺพชิโต. บทว่า ปรวิเหยนฺโต เป็นไวพจน์ของบทนี้ว่า ปรุปฆาตี. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปรูปฆาตี คือ ทำลายศีล. เพราะศีลท่านกล่าวว่า ปรมํ โดยอรรถว่าสูงสุด อธิบายว่า ก็ผู้ใดเป็นสมณะเบียดเบียนสัตว์อื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เข้าไปทำร้ายผู้อื่น คือ ทำศีลของตนให้พินาศ ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปทำร้ายผู้อื่น เพราะไม่มีอธิวาสนขันติ ฆ่าสัตว์อื่นโดยที่สุดแม้เหลือบและยุง ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็น บรรพชิต. เพราะเหตุไร. เพราะยังเว้นมลทินไม่ได้. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าบรรพชิตดังนี้ นี้คือลักษณะของบรรพชิต. แม้ผู้ใด ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่า แต่เบียดเบียนด้วยอาชญาเป็นต้น ผู้นั้นยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ. เพราะเหตุไร. เพราะไม่สงบจากการเบียดเบียน. ดังที่ท่านกล่าวว่า ผู้ที่เรียกว่า สมณะ เพราะบาปสงบดังนี้ นี้คือลักษณะของสมณะ. พึงทราบเนื้อความในคาถาที่สอง. บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่อกุศลทุกชนิด. บทว่า อกรณ คือไม่ให้เกิดขึ้น. บทว่า กุสลสฺส ได้แก่กุศลอันมีในภูมิ ๔. บทว่า อุปสมฺปทา คือได้เฉพาะ. บทว่า สจิตฺตปริโยทปน คือยังจิตของตนให้สว่าง. ก็บทนั้นย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์ ด้วยประการดังนี้บรรพชิตควรละบาปทั้งปวงด้วยศีลสังวร ยังกุศลให้ถึงพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย ยังจิตให้ผ่องแผ้วด้วยอรหัตตผล นี้เป็นคำสอน คือ เป็นโอวาท คือเป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พึงทราบเนื้อความในคาถาที่สาม. บทว่า อนูปวาโท คือ ไม่เข้าไปกล่าวร้ายแก่ใครๆ ด้วยวาจา. บทว่า อนูปฆาโต คือไม่ทำร้ายด้วยกาย. บทว่า ปาฏิโมกฺเข แยกศัพท์เป็น ป อติ โมกฺข แปลว่า การพ้นทั่วยิ่ง คือศีลสูงสุด ย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติ และย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ หรือย่อมรักษาสุคติย่อมให้พ้นทุคติ เพราะฉะนั้น ศีลนั้นท่านเรียกว่า ปาฏิโมกฺข ผู้สำรวมในปาฏิโมกข์นั้น. บทว่า มตฺตญฺญุตา คือ รู้ประมาณด้วยสามารถการรับและการบริโภค. บทว่า ปนฺตญฺจ สยนาสน ความว่า เว้นการเบียดเสียดที่นอนและที่นั่ง. ในบทนั้นพึงทราบว่า เป็นอันท่านแสดงถึงความสันโดษในปัจจัย ด้วยปัจจัย ๒ เท่านั้น. บทว่า เอตพุทฺธาน สาสน ความว่า การไม่เข้าไปว่าร้าย ไม่เข้าไป ทำร้ายผู้อื่น การสำรวมในปาฏิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จัก ประมาณในการรับและการบริโภค การเสพเสนาสนะอันสงัด เพื่อความเป็นผู้ชำนาญในสมบัติ ๘ นี้เป็นคำสอน เป็นโอวาท เป็นคำตักเตือนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ก็พึงทราบ คาถาเหล่านี้เป็นคาถาแสดงหัวข้อธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง.

จบ อรรถกถาอธิบายคาถา (มาฆบูชา)

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
spob
วันที่ 13 ก.พ. 2551

ฏีกามหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (เฉพาะคาถามาฆบูชา)

ที่ว่า ขันติ ได้แก่ การอดทน อดกลั้น การยกให้อยู่เหนือตน ซึ่งคำพูดร้ายๆ ของผู้อื่น การทำชั่วๆ ของผู้อื่น การก้าวล่วงคุณ อันจะแตกทำลายไปโดยร้อนและเย็นเป็นต้น ก็เพราะเหตุที่ขันตินั้น ย่อมทำให้เร่าร้อนพร้อมทั้งคุณวิเศษ ชื่อว่า ย่อมเผารน คือ ทำลายปฏิปักขธรรมแห่งศีลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ขันตินั้น จึงเป็นตบะสูงสุดฯ เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า อธิวาสนขันติคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่งฯ ด้วยคำว่า อธิวาสนขันติ ความอดกลั้นนี้ ท่านอาจารย์ประสงค์ให้ขันติต่างจาก ธัมมนิช-ฌานนักขันติ (หมายความว่า ขันติ ศัพท์ ที่อยู่ท้าย ศัพท์ว่า อธิวาสนขันติ และ ธัมมนิชฌานักขันติ มีความต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้ อธิวาสนขันติ คือ ความอดทนอดกลั้นต่อความก้าวล่วงแห่งบุคคลอื่นเป็นต้นฯ ในคัมภีร์อรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์ระบุว่าที่ชื่อว่า อธิวาสนตา (ความอดกลั้น) เพราะอรรถว่า เป็นเหตุอดกลั้น คือเป็นเหตุยกขึ้นเหนือตนทนอยู่ ไม่ต่อต้าน ไม่เป็นข้าศึกดำรงอยู่. ในฏีกาอังคุตตรนิกายกล่าวว่า อธิวาสนขันติ ได้แก่ การยกการทำชั่วและการคำพูดชั่วของผู้อื่นให้อยู่เหนือตน ชื่อว่า อธิวาสนะ, อธิวาสนะนั่นแหละ ชื่อว่า ขันติ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อธิวาสนขันติ, ในมูลฏีกาธัมมสังคณีปกรณ์ อธิบายว่า การยกการทำชั่วและคำพูดชั่วของผู้อื่นให้อยู่เหนือตน โดยการไม่ทำการโต้แย้งโต้ตอบ สรุปได้ว่า อธิวาสนะ ก็คือ การไม่ทำการโต้แย้ง แม้จะถูกล่วงเกิน ส่วนขันติ ได้แก่ ความอดทนอดกลั้น ซึ่งทั้งสองคำนี้เป็นคำที่มีความหมายเสมอกัน จัดเป็นไวพจน์กันได้ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ธัมมสังคณีปกรณ์ว่า ตตฺถ กตมา ขนฺติ? ยา ขนฺติ ขมนตา อธิวาสนตา อจณฺฑิกฺกํ อนสุโรโป อตฺตมนตา จิตฺตสฺส –อยํ วุจฺจติ ขนฺติฯ ขันติ เป็นไฉน ?ความอดทน กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้ายความไม่ปากร้าย ความแช่มชื่นแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ขันติ.

การที่ท่านนำมารวมกันเป็นบทสมาส ก็เพื่อแสดงความต่างจากขันติที่ประกอบกับศัพท์ว่าธัมมนิชฌานักขันติ ด้วยประการฉะนี้ คำว่า ธัมมนิชฌานขันติ แยกออกเป็น ๓ ศัพท์ คือ ธรรม ได้แก่ ขันธ์ ๕ นิชฌาน แปลว่า ความเห็น, การรู้, การเพ่งพินิจ ขันติ ตรงตัวแปลว่า อดทน บางครั้งท่านแปลว่า ความควร ฯ อนึ่ง ท่านจัดเข้าในกลุ่มของความเห็นหรือญาณ ดังในคัมภีร์วิภังค์ ญาณวิภังค์ ติกนิทเทส (เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๕๘๓) แสดงไว้ว่า ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ฯลฯ บุคคลมิได้ฟังจากผู้อื่น ย่อมได้กัมมัสสกตาญาณ ฯลฯ ย่อมได้ อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณเปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ อันใดซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา. ในอรรถกถาอธิบายว่า " คำว่า ขนฺตึ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของ ปัญญา ทั้งนั้น. จริงอยู่ปัญญา นั้น ชื่อว่า อนุโลมิกะ เพราะอรรถว่า ย่อมอนุโลม (คือ คล้อยตาม) ซึ่งเหตุอันเป็นการกระทำ ๕ อย่างฯลฯ ญาณใด ย่อมอดทน ย่อมสามารถ ย่อมอาจเพื่อเห็นซึ่งเหตุเป็นที่กระทำ (การณะ) แม้ทั้งหมดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ญาณนั้น จึงชื่อว่า ขันติ. ฯลฯ เมื่อนำ ธัมมะ, นิชฌานและขันติ มาสมาสกัน ก็จะได้ความหมาย ดังที่อรรถกถาวิภังค-ปกรณ์นั้นแสดงว่า ปญฺจกฺขนฺธสงฺขาตา ธมฺมา ปุนปฺปุนํ อนิจฺจทุกฺขานตฺตวเสน นิชฺฌายมานา ตํ นิชฺฌานํ ขมนฺตีติ ธมฺมนิชฺฌานขนฺติ ธรรมทั้งหลายกล่าวคือ ขันธ์๕ เมื่อเข้าไปเพ่งพิจารณา ย่อมควรซึ่งการเพ่งพิจารณานั้น (คือย่อมให้ประจักษ์แจ้ง - ตามนัยของวิภังคอนุฏีกา) ด้วยสามารถแห่งความเป็นสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธัมมนิชฌานขันติญาณ. ในวิภังคมูลฏีกาอธิบายธัมมนิชฌานขันติได้ชัดเจนว่า ฅ "ยสฺสา ปญฺญาย ธมฺมา นิชฺฌานปชานนกิจฺจสงฺขาตํ โอโลกนํ ขมนฺติ อวิปรีตสภาวตฺตา, สาปญฺญา ธมฺมานํ นิชฺฌานกฺขมนํ เอติสฺสา อตฺถีติ ธมฺมนิชฺฌานกฺขนฺตีติ อตฺโถฯ ธรรมทั้งหลายย่อมควรซึ่งการดู กล่าวคือนิชฌานกิจ กิจคือการเพ่งดูและปชานนกิจ กิจคือการรู้ทั่ว แห่งปัญญาใด เพราะมีสภาวะที่ไม่วิปริต (คือ ธรรมทั้งหลายย่อมประจักษ์แจ้ง) , ปัญญานั้น คือ การควรซึ่งการเพ่งดูซึ่งธรรมทั้งหลาย (หรือความประจักษ์แจ้ง) ของขันตินี้มีอยู่ เหตุนั้น ปัญญานั้นชื่อว่า ธัมมนิชฌานขันติ ปัญญามีความควรซึ่งการเพ่งดูซึ่งธรรมฯ ในวิภังคอนุฏีกากล่าวว่า โอโลกนนฺติ ปจฺจกฺขกรณํ การดู ได้แก่ การทำให้ประจักษ์ ธมฺมา โอโลกนํ ขมนฺตีติ ปญฺญาย ตโทโลกนสมตฺถตมาห ส่วนคำว่า ธรรมทั้งหลาย ย่อมอดทนซึ่งการดู ได้แก่ ความสามารถในการกระทำธรรมนั้นให้ประจักษ์แก่ปัญญา

รวมความได้ว่า ธัมมนิชฌานขันติ ได้แก่ ญาณอันเป็นความสามารถในการทำให้ธรรมนั้นประจักษ์ ฯ ส่วนอธิวาสนขันติ ได้แก่ ความอดทน อดกลั้น ยกการทำชั่วและพูดชั่ว ให้อยู่เหนือตน โดยไม่โต้ตอบ ตลอดถึงความอดทนต่อการกร้ำกรายแห่งความแตกไปเพราะความเย็นและร้อน

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการใช้คำว่า ธัมมนิชฌานขันติ ในความหมายอื่นๆ คือ ความพอใจในธรรม อีกหลายแห่ง เช่น กีฏาคิริสูตร มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์ ฉบับสยามรัฐ ข้อ๒๒๒ เป็นต้น)

(ไม่จบ ยังมีต่อนะครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
spob
วันที่ 13 ก.พ. 2551

คำศัพท์ว่า ติติกฺขา ในพระบาลี มีความหมายเท่ากับคำศัพท์ว่า ขมนํ แปลว่า ความอดทนฯ เพราะนักไวยากรณ์อธิบายคำศัพท์ว่า ติติกฺขา นี้ในความหมายว่า ขมา แปลว่า ความอดทนฯด้วยเหตุนี้แหละ ท่านจึงอธิบายว่า คำว่า ติติกขา นี้เป็นไวพจน์ของขันติ ความอดทนฯ ข้อที่ว่า นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่งโดยอาการทั้งปวง หมายความว่า โดยประการทั้งปวงเป็นต้นว่า สนฺตะ เป็นธรรมสงบ, ปณีตะ เป็นธรรมประณีต, นิปุณะ เป็นธรรมละเอียด, สิวะเป็นธรรมที่หลุดพ้น, เขมะ เป็นธรรมเกษมฯ บุคคลนั้น จะมีชื่อว่า บรรพชิต หาได้ไม่ เพราะไม่เว้นธรรมที่ควรเว้นฯ ศีล ท่านกล่าวว่า บรม เพราะอรรถว่ามีความสูงสุด เพราะ ปร ศัพท์ กล่าวอรรถว่า ประ-เสริฐ, ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านใช้ว่า ปุคฺคลปโรปรญฺญู ผู้รู้จักความยิ่งและหย่อนแห่งบุคคล (พึงตรวจดูรายละเอียดในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ธัมมัญญูสูตร ซึ่งในอรรถกถาสูตรนั้น แก้ปโรปร ปร + อปร ว่า ปโรปรํ คือ ติกฺขมุทุภาวํ ความยิ่งและหย่อนแห่งบุคคล) คำว่า ปร แปลว่า อื่น ดังนี้ก็ได้ ฯ บัดนี้ ท่านกำหนด ปร ศัพท์ ซึ่งมี ความหมายว่า อื่นนั่นแหละ จึงได้กล่าวว่า อถ วา อีกอย่างหนึ่ง ดังนี้ไว้ คำว่า มลทิน นั้น ได้แก่ มลทินคือบาปธรรมฯ คำศัพท์ในอรรถกถาว่า อปพฺพชิตตฺตา เพราะยังเว้นไม่ได้ มีความหมายเท่ากับคำศัพท์ว่า อนีหฎตฺตา เพราะยังสลัดออกไม่ได้ คือ อนิรากตตฺตา เพราะยังไม่ทำลายทิ้งไปฯ คำว่า สมิตตฺตา ที่แปลว่า เพราะเป็นธรรมชาติที่ให้สงบ นั้น ได้แก่ เพราะได้ทำบาปธรรมเหล่านั้น ให้ดับแล้วฯ ก็ด้วยเหตุที่ว่านี้แหละ ท่านจึงยกพระบาลีในธัมมปทคาถา ธัมมัฏฐวรรคเรื่องหัตถกเถระ มาสาธกความตอนนี้ว่า สมิตตฺตา หิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจตี ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเว้นมลทินของตนได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บรรพชิต ดังนี้ อนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อจะยกพระปาติโมกข์แสดงแก่ภิกษุ จึงตรัสว่า ขนฺตี ปรมํ ตโปขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ดังนี้ไว้แต่แรก เพราะปาติโมกขกถามีศีลเป็นประธาน และเพื่อจะแสดงซึ่งวิธีการเหนี่ยวรั้งบาปธรรมนั้น คือ โทษ และ ปฏิปักขธรรม ของศีลนั้นโดยเฉพาะ, ด้วยพระบาลีว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป นั้น เป็นอันตรัสอุบายบรรเทาสิ่งที่ไม่ต้องการ, แต่ด้วยคำว่า ติติกฺขา ความอดกลั้น ตรัสอุบายบรรเทาสิ่งที่ต้องการ, แม้ด้วยพระบาลีทั้งสองนั้นเป็นอันว่าทรงแสดงความข้อนี้ว่า "ภิกษุย่อมครอบงำความยินดีที่เกิดขึ้นอยู่" พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมสูงสุด เพราะเข้าไปสงบระงับตัณหาเครื่องร้อยรัดฯในพระบาลีนั้น

ด้วยคำว่า ขันติ ได้แสดงความไม่มีแห่งปโยควิบัติ (ปโยควิบัติ ความไม่สมบูรณ์แห่งการกระทำ ในคำนี้หมายถึงมีปโยคสมบัติ) , ด้วย ติติกขา แสดงความไม่มีแห่งอาสยวิบัติ (ความไม่สมบูรณ์แห่งอาสยะ ในคำนี้หมายถึงมีอาสยสมบัติ) พระผู้มีพระภาคครั้นแสดงปาติโมกข์ เฉพาะเหตุ โดยตรงอย่างนี้แล้ว บัดนี้ จะแสดงปาติโมกข์นั้น โดยตรงข้ามกัน จึงตรัสคาถาว่า น หิ ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย ดังนี้เป็นต้นไว้ฯ (หมายความว่า อนวย แปลว่า ตามกัน ไม่ขัดแย้ง ตรงตัว ส่วนพยติเรก โดยตรงข้ามกัน หรือที่เหลือ ดังนั้น ในที่นี้ อนวยะการแสดงโดยตรงตัว ได้แก่ การทำร้าย คือ การฆ่าและเบียดเบียนคือทำร้ายร่างกายด้วยการตีเป็นต้น, ส่วนพยติเรกะคืออกุสลกัมมบถที่เหลืออีก ๙ ดังที่ท่านจะแสดงต่อไป) ด้วยการแสดงโดยพยติเรกะนั้น การปลงสัตว์ลงจากชีวิต (การฆ่าสัตว์) และการเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ, ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ท่านก็เรียกว่า การทำร้ายผู้อื่น, การเบียดเบียนผู้อื่น ดังนี้ แม้โดยประการใด, การลักสมบัติอันเป็นเครื่องค้ำจุนของผู้อื่น (อทินนาทาน) , การยึดครองภรรยาผู้อื่นเหล่านั้น (กาเมสุมิจฉาจาร) ก็ดี, การกล่าวมุ่งทะเลาะ (มุสาวาท) , การกล่าวทำลายให้แตกจากกันและกัน (ปิสุณาวาท) , การกล่าวกระแทกเสียดสีด้วยคำหยาบคาย (ผรุสวาท) , การสนทนากันด้วยเรื่องราวเปล่าประโยชน์ (สัมผัปปลาปะ) ก็ดี, การมุ่งหวังสมบัติผู้อื่น (อภิชฌา) , การหวังให้พินาศไป (พยาบาท) , การยึดถือผิดๆ (มิจฉาทิฏฐิ) ก็ดี ย่อมเป็นการทำร้าย, และการเบียดเบียน ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ย่อมแสดงว่า บุคคลจะเป็นบรรพชิต และ เป็นสมณะไม่ได้ เพราะอันกระทำอกุศลกรรมบถและกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า อกุศลทั้งปวง ได้แก่ ธรรมมีโทษ ซึ่งสงเคราะห์ลงได้ด้วยจิตตุปบาท ๑๒ ประการแม้ทั้งหมดฯ การไม่ให้เกิดในสันดานของตนแห่งบรรพชิตนั้น ชื่อว่า กรณะ การกระทำฯ เพราะเหตุนั้นท่านจึงเรียกการไม่กระทำว่า อนุปปาทนํ ไม่ให้เกิด โดยปฏิเสธการกระทำนั้นฯ คำว่า กุศล นี้ บอกให้รู้ถึงธรรม คือ อริยมรรคและกุศลธรรมใน ๓ ภูมิ ซึ่งเป็นเหตุสะสมอริยมรรคนั้น เพราะจักมีพระบาลีว่า เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า จตุภูกกุสลสฺส การยังกุศลเป็นไปในภูมิ ๔ ให้ถึงพร้อมฯ คำว่า อุปสมฺปทา แปลว่า การทำให้ถึงพร้อม คือ การบรรลุกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๔ นั้นด้วยเหตุนี้ ท่านจึงอธิบายว่า ปฏิลาโภ การได้เฉพาะฯ คำว่า จิตฺตโชตํ ความสว่างแห่งจิต ได้แก่ การทำความผ่องใสให้แก่จิต คือ ทำให้บริ-สุทธิโดยประการทั้งปวงฯ

ก็เพราะบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยมรรคอันเลิศ (อรหัตตมรรค) ชื่อว่า กำลังทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดโดยประการทั้งปวง, แต่จิตจะเป็นอันบริสุทธิ์หมดจดแล้ว ก็ในขณะแห่งผล เพราะไม่มีจิตอันจะพึงชำระให้บริสุทธิหมดจดอีก, เหตุนั้น ข้อที่ว่า ย่อมมีได้โดยความเป็นพระอรหันต์นี้ จึงหมายถึงการที่จิตเป็นธรรมชาติมีความหมดจดอันสำเร็จแล้วฯ

ยังไม่จบ นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
spob
วันที่ 13 ก.พ. 2551

อธิบายว่า ละบาปธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจตทังคปหาน เป็นต้น นั่นเองฯ เพราะ เมื่อสงเคราะห์กุศลอันเป็นไปในภูมิสามไว้ด้วยคำว่า สีลสังวร นี้ ย่อมเป็นอันสงเคราะห์แม้ปหานะที่เหลือไว้ฯ เพราะกระทำอธิบายอย่างนี้ จึงเป็นอันสรุปการถือเอาการละทั้งหมดไว้ได้ฯ คำว่า ด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย หมายถึง ด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระฯ คำว่า สมฺปาเทตฺวา มีความหมายเท่ากับคำว่า นิปฺผาเทตฺวา แปลว่า ให้สำเร็จฯ พึงทราบว่าการถึงพร้อมในที่นี้ มีได้ก็เพราะธรรมเป็นเหตุอันเกิดร่วมกันแห่งผลได้, จะป่วยกล่าวไปใยถึงการถึงพร้อม ที่มีได้เพราะธรรมที่สำเร็จอยู่ก่อนหน้า คำว่า กสฺสจิ แปลว่า แก่ใครๆ ได้แก่ ในบรรดาคนที่ต่ำ เป็นต้น แก่สัตว์ใดๆ หรือ แก่ผู้กล่าวร้าย ใดๆ , ด้วยคำนั้น ไม่ประสงค์เอาการเข้าไปว่าร้าย แม้ด้วยคำพูดที่ต้องการความสนุก (พูดกระเซ้าเย้าแหย่) ฯ บัณฑิตพึงนำคำว่า กสฺสจิ มาเชื่อมแม้ในบทว่า อุปฆาตสฺส อกรณํเป็น กสฺสจิ อุปฆาตสฺส อกรณํ ไม่เข้าไปทำร้ายแก่ใคร ฯ คำว่า กาเยน ด้วยกาย นี้เป็นแค่การแสดงตัวอย่าง. เพราะควรละเว้นการกระทำคือเข้าไปทำร้าย แม้ด้วยอำนาจการดำริถึงความเสียหายเป็นต้นแก่บุคคลอื่นแม้ด้วยใจฯ อีกนัยหนึ่ง ในคำว่า กาเยน ด้วยกาย นี้ พึงทราบว่ารวมถึงอรูปกายด้วย, แต่ไม่รวมถึงโจปนกายและกรชกายฯ (หมายถึงเอา กายทวารและมโนทวาร) คำอธิบายที่ตัดบทว่า ป + อติโมกฺขํ นี้หมายถึง (ตั้ง) ความเป็นประธานในศีลทั้งหลาย อันดีที่สุด โดยประการฯ ท่านอาจารย์กล่าวบทว่า ป อติโมกฺขํ นั้นนั่นแหละว่า อติปโมกฺขํ ก็โดยสลับอุปสัคบทฯ (หมายถึง ป มาจาก ปการโต โดยประการ, อติ มาจาก อติวิย ดีที่สุด, โมกฺขคือ มุขฺย ประธาน จึงชื่อว่า ปาติโมกข์ แปลว่า ศีลอันเป็นประธานโดยประการอย่างดีที่สุด, ส่วนในคำอธิบายถัดมาที่ว่า อติปโมกฺขํ เป็นการอธิบายโดยจัดลำดับแห่งอุปสัคบทเสียใหม่ ให้เป็นอติ และ ป เพื่อกำหนดความหมายได้สะดวก) ท่านอาจารย์ครั้นอธิบายโดยแยกบทอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวโดยกระจายความหมายว่า ศีลอันสูงสุดฯ ด้วยคำเป็นต้นว่า ปาติ วา หรือย่อมรักษาสุคติ ย่อมให้พ้นทุคติ นี้ย่อมแสดงว่า ชื่อว่าปาติโมกข์ เพราะรักษา เพราะคุ้มครอง เพราะให้หลุดพ้นอย่างยิ่ง เพราะให้หลุดออก อย่างยิ่งเพราะได้แสดงเลี่ยงนิมิต (คือ เหตุ) ไว้โดยความเป็นกัตตา (ผู้กระทำกิริยาในประโยค) ว่า ปาปา อติ โมกฺเขตีติ อติโมกฺโข. คำว่า โย วา นํ ศีลสูงสุดย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติและย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ เป็นต้น นี้ มีความโดยสังเขป ว่า บุคคล ใด ย่อมรักษาซึ่งปาติโมกขสังวรศีลนั้น คือสมาทาน รักษาไม่ให้กำเริบอยู่, ปาติโมกขสังวรศีลนั้น ย่อมรักษา ซึ่งบุคคลนั้น ผู้ได้นามว่า ปาติ ซึ่งดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีล เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปาติโมกข์ ฯ ส่วนความพิสดารของบทว่าปาติโมกข์ พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคมหาฏีกาฯ คำว่า รู้จักประมาณ ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ, แต่ความเป็นผู้รู้จักประมาณนั้น ท่านกำหนดเอาโดยเกี่ยวกับปัจจยสันนิสิตศีลโดยเฉพาะ ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่าความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับและการบริโภคฯ เมื่อกำหนดแม้โดยอาชีวปาริสุทธิศีล ก็ควรกล่าวว่า โดยเกี่ยวกับการแสวงหาและการสละ ดังนี้บ้างก็ได้ฯ คำว่า เว้นจากการเบียดเสียดที่นอนและที่นั่ง ได้แก่ เว้นจากการเบียดเสียดกับมนุษย์,หมายความว่า ไม่มีความคับคั่งด้วยหมู่คน คือ สงัด ฯ ท่านแสดงความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ เพราะปัจจัยแม้ที่เหลือทั้งสอง ท่านให้แจ่มแจ้งแล้วโดยลักขณหารนัย ด้วยว่าเหมือนกันด้วยความเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย (ลักขณหารนัย คือนัยที่แสดงธรรมไว้ไม่หมด เพื่อให้เป็นข้อกำหนดธรรมอย่างอื่น เพราะธรรมที่เหลือจากที่แสดงแล้วผู้อ่านสามารถกำหนดเองได้ ในที่นี้หมายถึง ท่านแสดงการสำรวมด้วยปัจจัยคือสันโดษในปิณฑบาตและเสนาสนะ ส่วนจีวรและคิลานเภสัช ท่านไม่แสดงไว้ เพราะผู้อ่านสามารถกำหนดได้ เพราะเป็นธรรมที่อยู่ในชุดเดียวกันคือ สันโดษในปัจจัย ๔ ลักษณะการแสดงอย่างนี้เรียกว่า ลักขณหาระ พึงตรวจดูรายละเอียดลักขณหาระ ในเนตติปกรณ์) ด้วยคำว่า เพื่อความเป็นผู้ถึงวสีภาวะในสมาบัติ ๘ นี้ ท่านประสงค์การเสพเสนาสนะสงัดโดยเกี่ยวกับการแสดงประโยชน์ เพื่อการทำความเพียรในอธิจิต ใด, การทำความเพียรในอธิจิตนั้น ท่านได้กล่าวไว้แล้ว, สมาบัติ ๘ ในที่นี้ ได้แก่ สมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา, มิใช่สมาบัติ ๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการตามความเพียรในอธิจิตแม้ทั้งหมด ท่านอาจารย์ได้ทำให้แจ่มแจ้งไว้แล้ว

จบ ฏีกามหาปทานสูตร (บางส่วน เฉพาะคาถามาฆบูชา)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 13 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนาในวิริยะของคุณSpob เป็นอย่างยิ่ง ที่นำข้อความที่มีประโยชน์มาโพสให้

สหายธรรมได้ศึกษาร่วมกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บรรณวิท
วันที่ 14 ก.พ. 2551

โดยสรุป คือไม่ควรประมาทในการประกอบกุศลทุกประการ (ในมงคล ๓๖ ประการถือเป็นการกุศลได้หรือไม่ครับ เช่น ว่าด้วยการงานไม่คั่งค้าง เป็นต้น) ไม่ควรประกอบอกุศลทุกประการแม้เพียงทางใจ และพึงทำจิตให้สงบ (ซึ่งตรงกับคำว่าการประกอบความเพียรในอธิจิต) ใช่หรือไม่ครับจากบทความของคุณ Spob ทำให้เห็นคุณประโยชน์ของ ขันติ จริงๆ ครับ

ขออนุโมทนาบุญนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Koy
วันที่ 14 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนาคุณspob ด้วยอีกคนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
อิสระ
วันที่ 15 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เซจาน้อย
วันที่ 15 ก.พ. 2551

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kansinee
วันที่ 15 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาด้วยกับทุกคนค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 ก.พ. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
suwit02
วันที่ 4 มี.ค. 2552

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ