ประโยชน์ในการศึกษาเรื่องชาติของจิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ก.พ. 2551
หมายเลข  7446
อ่าน  1,600

การศึกษาเรื่องชาติทั้ง ๔ ของจิต คือ จิตเกิดขึ้น

เป็นกุศล ๑

เป็นอกุศล ๑

เป็นวิบาก ๑

เป็นกิริยา ๑

จึงทำให้รู้ว่าจิตขณะใดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือวิบากจิตข้างหน้า และจิตขณะใดเป็นวิบากคือผลของเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีต

ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตและจิตที่ไม่ใช่วิถีนั้นจะต้องรู้ด้วยว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไรเช่น ปฏิสนธิจิต เป็น วิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้วในอดีต เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต ที่ทำกิจปฏิสนธิในภพหนึ่งชาติหนึ่งเพียงชั่วขณะเดียว จะทำกิจปฏิสนธิในชาตินั้นอีกไม่ได้เลย ทำได้เพียงชั่วขณะแรกขณะเดียว ที่เกิดต่อจากจุติจิต ของชาติก่อนเท่านั้น แล้วปฏิสนธิจิตก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย

เมื่อปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นชาติวิบากดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตนั้นเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตทันที จิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตนั้นทำภวังคกิจ จึงไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตเป็นวิบากจิต

ฉะนั้น กรรมจึงไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไปเท่านั้น แต่กรรมยังทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำภวังคกิจสืบต่อ และภวังคจิตดวงแรกที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตนั้นชื่อว่า ปฐมภวังค์ ส่วนภวังค์ดวงต่อๆ ไปจนถึงจุติจิตนั้นไม่จำเป็นต้องนับเลย

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ