ความตั้งใจและคิดนึก
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เหมือนมีเรา มีตัวเรา ตั้งใจที่จะคิด แต่ก็เป็นสภาพธรรม ที่สะสมมาที่ปรุงแต่งให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความตั้งใจก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความต้องการก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนจงใจได้ หากว่าไม่มีสภาพธรรมที่มีปัจจัย ปรุงแต่ง ไม่มีจิต เจตสิก รูป ก็ไม่สามารถคิดอะไรได้เลย แสดงให้เห็นว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา การจะคิดถึงสิ่งที่อยากจะคิด ก็ต้องมีสัญญาที่เคยจำ (สัญญาเจตสิก) ในสิ่งนั้นมาก่อน อาจจะเป็นทางตา...กาย เป็นต้น จึงสามารถคิดเรื่องนั้นได้ หากไม่เคยเห็น ได้ยิน..ในสิ่งนั้นแล้ว ต่อให้อยากคิดในเรื่องนั้น ก็คิดไม่ได้ เช่น ถ้าไม่เคยเห็นสิ่งนั้น บอกให้คิดสิ่งนั้นก็ไม่ได้เลย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงจะคิดในเรื่องนั้นได้ จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่บังคับได้ เพราะต้องอาศัยสภาพธรรม เช่น สัญญาหรือเจตสิกอื่นๆ เกิดขึ้น จึงคิดนึกในเรื่องที่อยากคิดได้ ลองตั้งใจอยากจะคิดเรื่องๆ หนึ่งดูครับ ก่อนคิดถึงเรื่องนั้น เห็นอะไรก่อนไหม เห็นคอมฯไหม เห็นตัวอักษรไหม ขณะที่เห็นเป็นคอมฯ หรือเห็นเป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นก็คิดเรื่องอื่นก่อนแล้ว ดังนั้น คิดนึกไม่ได้หมายถึง จะต้องเป็นคำๆ ในใจ แต่เห็นเป็นสิ่งใดก็คิดนึกแล้วครับ มีแต่สภาพธรรมและเป็นอนัตตา ลองคิดนึกถึง พระนิพพานดูครับ?
พระนิพพานไม่ได้รู้ด้วยการคิดนึกแต่ด้วยการประจักษ์ด้วยปัญญา
[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้าที่ ๖๔๕ พระนิพพานนั้นแลท่านประสงค์เอาในที่นี้. พระนิพพานนั้นจักปรากฏ จักยืนยันได้ด้วยบทมีอาทิว่า ตณฺหกฺขย วิราค นิพพานเป็นที่สิ้นตัณหา สำรอกกิเลส ดังนี้ เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเรียกว่าทิศ. นิพพานท่านเรียกชื่อว่าทิศไม่เคยไป เพราะพาลปุถุชนไรๆ แม้แต่ฝันถึงก็ไม่เคย. ผู้ปรารถนานิพพานนั้น ควรทำความเพียรด้วยกายคตาสติ.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เราสามารถตั้งตนไว้ชอบได้ เช่น ตั้งใจที่จะศึกษาธรรมะ เพื่อขัดเกลากิเลสและเป็นอุปนิสัยในอนาคต ตั้งใจที่จะเป็นคนดี บำเพ็ญบารมี ๑๐ เพื่อถึงฝั่งคือ พระนิพพานค่ะ แต่ความคิดบังคับไม่ได้ แล้วแต่อุปนิสัยที่สั่งสม บางคนก็คิดดี คิดที่จะช่วยเหลือคนอื่น แต่บางคนก็เฉยๆ ฯลฯ คนที่มีปัญญา ก็คิดที่จะเจริญกุศลต่างๆ แต่คนที่ไม่ได้สะสมปัญญามา ก็คิดแต่แสวงหากามคุณห้า ไม่ได้คิดที่จะขัดเกลากิเลสหรือละคลายความเป็นตัวตนเลย
ที่ตั้งใจคิด และไม่ได้ตั้งใจคิด ก็เป็นเพียงจิตที่คิด เพราะลักษณะของจิตเป็นสภาพที่คิด แต่เพราะไม่รู้ลักษณะของจิต จึงยึดถือสภาพของจิตที่คิดว่าเป็นเราคิด เมื่อเห็นผิดว่า จิตที่ทำหน้าที่คิดนั้น เป็นเราคิด จึงมีเราที่บังคับบัญชาความคิดได้ แท้จริงเป็นเพียงสภาพจิตที่คิดเท่านั้นเอง
เพราะเราไม่รู้ถึงความรวดเร็วในการเกิดดับของจิต จึงไม่แปลกที่เราจะยึดถือสิ่งที่จิตคิดว่าเป็น "เราคิด" ด้วยความสามารถ "ของเรา" ส่วนมากแล้ว เราคิดอย่างนี้ได้เพียงขณะที่ยินดีพอใจหรือว่าเฉยๆ แต่ในความเป็นจริง ถ้าเป็นเราตั้งใจคิดได้ ทุกคนก็คงจะไม่ต้องคิดให้ตนเองเป็นทุกข์ เพราะไม่มีใครปรารถนาให้เกิดความทุกข์ ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ แต่ใครจะฝืนให้ความคิด เป็นสุขหรืออย่างน้อยเฉยๆ ก็ยังดีเกิดติดต่อกัน ยั่งยืนตลอดเวลาได้ เพราะความคิดเป็นสังขารธรรม มีการปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น เป็นสังขตธรรม จากนั้นก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เหลืออะไรที่จะเป็นเราได้เลยแม้แต่ความคิด ที่ดับไป เพียงหนึ่งขณะนั้นๆ อีกเสี้ยววินาทีข้างหน้า ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดคิดคำ เรื่องราว รูปร่าง สัณฐาน ฯลฯ อะไร ความคิดเป็นอนัตตา แต่อัตตา ไม่สามารถจะรู้ถึงความเป็นอนัตตาได้ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น จึงจะรู้ว่า ธรรมะไม่ใช่ตัวตน ถ้าหากเราไม่ได้เป็นผู้ที่ อบรมเจริญปัญญา จนเกิดความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ที่คิดได้อย่างนั้น ก็เพราะมีเหตุปัจจัยสะสมมาจึงคิดได้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แล้วเหมารวมว่า "เป็นเรา" แล้ว ก็จะไม่มีใครสามารถคิดให้ทุกข์ใจเบาบางลง ในทางที่ถูกที่ควรได้เลย เช่น บางคนคิดว่าเวลาที่ไม่พอใจ ก็ไปทำอะไรที่พอใจ เขาก็จะหายโกรธเป็นต้น นั่นเป็นการประคบประหงมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวตามโลภะ ซึ่งโลภะนี้เอง จะเป็นเหตุให้ต้องประสบกับความคิดในเรื่องของทุกข์อื่นๆ อีกมากมายตามมา ความคิดในเรื่องของทุกข์ ทุกๆ ขณะจะมีการสะสมไว้ในจิตจ นเป็นปัจจัยให้คิดไม่พอใจในลักษณะเดิมๆ เกิดขึ้นได้อีก และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก ถ้าหากยังไม่เข้าใจความจริงว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราครับ...อนุโมทนาครับ