เมื่อมีความเห็นผิด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เมื่อมีความเห็นผิดย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมอื่นๆ ตามมามากมายและล่วงศีลได้ เมื่อเห็นผิด ย่อมคิดผิด ย่อมมีวาจาผิด (พูดเท็จ พูดหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ) ย่อมมีการงานผิด ประพฤติทางกายผิด (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) ย่อมเลี้ยงชีพผิด ย่อมเพียรผิด ย่อมระลึกผิด ย่อมตั้งมั่นผิด ย่อมรู้ผิด เป็นต้น เช่น บุคคลที่เห็นว่าตายแล้วไม่เกิด ก็ย่อมล่วงศีลได้เพราะเห็นว่าทำบาปไปก็ไม่เป็นไร จบแค่ชาตินี้
ความเห็นผิดนั้นมีโทษมาก ไม่เพียงแค่ล่วงศีลเท่านั้น หากเป็นความเห็นผิดที่ดิ่ง ร้ายแรงก็ห้ามสวรรค์ นิพพาน และไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย จึงมีโทษมาก มากกว่า การทำอนันตริยกรรม เพราะอนันตริยกรรม ยังมีระยะเวลากำหนด ในการรับผลของกรรม แต่ความเห็นผิดกำหนดไม่ได้เพราะไม่สามารถออกไปจาสังสารวัฎฎ์ได้เลยครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๙๑
[๑๙๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง.
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ ๓๖๐
ข้อความบางตอนจาก... ๒. ทุติยอธรรมสูตร
ว่าด้วยบุคคลพึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและตามสิ่งที่เป็นประโยชน์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ความเห็นชอบเป็นสิ่งที่เป็นธรรม อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะความเห็นชอบเป็นปัจจัยเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ภิกษุอาศัยมิจฉัตตะ๑๐ จึงพลาดจากสวรรค์และมรรคผล [มิจฉัตตสูตร]
คนที่มีความเห็นผิด เช่น ไม่เชื่อเรื่องบุญบาป ทำดีได้ดี ไม่มี อย่างนี้เขาก็จะไม่รักษาศีล เขาก็มีโอกาสล่วงศีล ทำทุจริตต่างๆ เพราะเขาคิดว่าชาติหน้าไม่มี จะทำดีไปทำไม ฯลฯ
ความเห็นผิด เป็นเหตุให้ล่วงศีลได้ทุกข้อ
คนที่ไมใช่พระอริยบุคคล ยังมีเหตุให้ล่วงศีลได้ทุกข้อ เพราะยังเป็นปุถุชน ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะยังมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน คน สัตว์ สิ่งของศีลย่อมขาดได้เพราะเหตุแห่ง ลาภ ยศ ญาติ และเหตุแห่งชีวิต เพราะโลภะเป็นมูล เพราะเป็นเหตุแห่งความปรารถนา ติดข้อง แต่การล่วงทุจริต ล่วงศีลแต่ละครั้ง เพราะขาดเมตตาในผู้อื่น และธรรมที่ตรงข้ามกับเมตตาคือ โทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง และประทุษร้าย การรักษาศีล จึงเป็นการขจัดโทสะ. อ้างอิงจาก หนังสือ บุญญกิริยาวัตถุ.