จำเป็นอย่างไรที่ต้องศึกษาธรรม
ได้สนทนากับเพื่อน เพื่อนว่า คนเราจะเป็นคนดี อยู่ที่ใจ ไม่เห็นจำเป็นต้องศึกษาธรรมก็เป็นคนดีได้ ทำให้สงสัยว่า คนดีที่ศึกษาธรรม กับคนดีที่ไม่ได้ศึกษาจะต่างกันอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ดีคืออะไร ไม่ดีคืออะไร ดีคือ ขณะที่เป็นกุศลจิต ดีมากยิ่งขึ้นคือ กิเลสน้อยลง ดีที่สุดคือ ไม่มีกิเลส ไม่ดีคืออย่างไร ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น หากไม่ศึกษาพระธรรม ย่อมสำคัญว่าดี เพียงเพราะอาจจะไม่เบียดเบียนคนอื่น เป็นต้น แต่เราไม่รู้เลยว่า มีสิ่งที่ไม่ดีมีหลายระดับ กิเลสมีหลายระดับ หากไม่ศึกษา ก็จะไม่เห็นกิเลส และที่สำคัญคือ สำคัญกิเลสว่า เป็นสิ่งที่ดี เช่น ความรักซึ่งอาจเป็นโลภะได้ การจะรู้ว่า สิ่งใดดีหรือไม่ดี และเห็นกิเลสและความจริงของสภาพธรรม ก็ด้วยปัญญา อันเนื่องมาจากการศึกษาพระธรรมนั่นเองครับ การศึกษาธรรม เมื่อปัญญาเกิดจึงรู้ว่าสิ่งใดดีและไม่ดีและรู้หนทาง การดับสิ่งที่ไม่ดี แม้จะเป็นคนไม่ดีตอนนี้ก็ตาม แต่อาศัยการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง จึงดีขึ้นเพราะปัญญา ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ขออนุโมทนา
เห็นกิเลสตามความเห็นจริงเป็นผู้ประเสริฐ ไม่เห็นกิเลสตามความเป็นจริงเป็นผู้ไม่ประเสริฐ
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก [อนังคณสูตร]
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ข้อความบางตอนจากหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป.
ถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรม ที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็ย่อมไม่สามารถอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงและสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้.
พระพุทธศาสนา ที่ตรัสรู้โดยพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเพียงให้ควรเป็นคนดี แต่ยังสอนเห็นโทษของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้เข้าใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค จุดประสงค์สูงสุด คือการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด.
ควรมิควรอย่างไร...ลองพิจารณาดูนะคะ ว่าเป็นคนดีก็พอแล้วหรืออยากพ้นทุกข์.
มีคนส่วนใหญ่ที่พูดและมีความเห็นเช่นนี้ นิยามคำ คนดี ว่าคือการไม่ฆ่าคน หรือสัตว์ใหญ่ (แต่อาจฆ่าสัตว์ร้ายได้) ไม่ทำผิดกฎหมาย (แต่อาจผิดจริยธรรมบ้าง) ไม่โกหกร้ายแรง (แต่โกหกขาวอาจถือว่าทำได้) เหมา หรือเข้าใจเอาเองว่า ก็ถือศีลห้าอยู่แล้วไม่ได้ทำใครเดือดร้อน ถือว่าพอในคำว่า คนดี
ส่วนคนดีที่ศึกษาธรรมะ จะค่อยๆ ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นมากขึ้นโดยลำดับแยกแยะความถูกผิด คือกุศลและอกุศล ที่ยิ่งกว่าคำว่ากฎหมายได้รอบคอบกว่าจะยิ่งมีความเข้าใจ และมั่นคงขึ้นในพระธรรมคำสอนที่ไม่ใช่เพียงการเป็นคนดี แต่เป็นคนดีที่ดีขึ้นมาก ดีขึ้นยิ่งกว่า ดีอย่างยิ่งและสุดท้าย คือดีอย่างเยี่ยมยอด คือพระอรหันต์
ศึกษาพระธรรมต่อไปเถอะค่ะที่แห่งนี้มีพระธรรมให้ศึกษามากมายหลายช่องทาง ทั้ง ฟัง อ่าน สนทนา
ขออนุโมทนาค่ะ
ต่างกันที่คนดีที่ศึกษาธรรมะ เป็นผู้เห็นคุณของการเจริญปัญญาว่า ถ้าปัญญาเจริญขึ้น กุศลทุกประการก็จะเจริญตามมา อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมั่นคงได้ แต่คนดีที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา เขาอาจจะช่วยผู้อื่นหรือสัตว์อื่นได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่วตามอัธยาศัยอย่างนั้นที่สะสมมาก็จริงอยู่ แต่ความดีนั้นก็ไม่อาจจะเจริญอย่างมั่นคงถาวรแท้จริง เพราะบางครั้ง ก็อาจจะแฝงไปด้วย ความยินดีพอใจในกรรมดีที่ได้กระทำนั้น ด้วยความหวังลึกๆ โดยที่ผู้นั้นไม่อาจจะรู้ถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง หากวันหนึ่ง เขาต้องประสบกับความผิดหวังเช่น อาจจะถูกผู้อื่น หรือสัตว์อื่นที่ในอดีตเขาเคยช่วยไว้ แว้งกลับมาทำร้ายเขา ด้วยกายหรือวาจาเข้า เขาอาจจะเสียใจจนเลิกช่วยไป หรืออาจจะคิดว่าความดีที่ตนทำไว้ไม่มีผล หรือร้ายยิ่งกว่านั้น อาจจะมีการอาฆาต หรือจองเวรกันเกิดขึ้นก็ได้ บางคนเป็นผู้มีอัธยาศัยที่จะช่วยผู้อื่น หรือสัตว์อื่นให้ได้รับความสุขทางกาย แต่ว่าเขาอาจจะไม่เห็นโทษที่เบียดเบียนผู้อื่นทางวาจา ในลักษณะของคำพูด เช่น อาจจะมีความคิดเห็นว่า การพูดโกหกมีความจำเป็น ถ้าการพูดนั้นจะช่วยให้ผู้อื่นสบายใจ หรืออาจจะเห็นว่า การพูดคำหยาบมีความจำเป็นในการพบปะสังสรรค์ในวงสังคมของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การมองข้ามโทษของอกุศลกรรมที่จะก่อให้เกิดผลอันเป็นทุกข์จากการกระทำนั้นในภายหลัง มาจากการขาดความเข้าใจในเรื่องของ "กรรม" ฉะนั้น แม้แต่ในในขั้นศีลที่หลายคนมองข้าม ใครจะมาบอกเราว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่หรือกระทำอยู่ด้วยความคิดความเห็นของเรานั้น ไม่ถูกต้อง เหตุนี้ ความดีที่จะเจริญขึ้นได้ ไม่ได้อยู่ที่ใจ เพราะใจไม่รู้ถูกไม่รู้ผิด แต่จะดีขึ้นได้แท้จริง ต้องอยู่ที่ความเข้าใจพระธรรมซึ่งเป็นความเห็นถูก คือ ปัญญา
อนุโมทนาครับ
คิดว่าดี ก็ยังเป็น "เรา" ที่ดี หรือเป็น "เรา" ที่ไม่ดี
แล้วก็คิด "สุข" และคิด "ทุกข์" กับความดีและไม่ดีนั้น (เพราะยังยึดว่าเป็นเราที่ดีและไม่ดี)
ต่อเมื่อได้ศึกษาธรรมจึงได้รู้ว่า ไม่มี "เรา" ที่ดีและไม่มี "เรา" ที่ไม่ดี (เพราะไม่มีเรา) เป็นแต่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเอง จาการสั่งสม (กุศลและอกุศล)
ดีที่สุด จึงเป็นความหมดดี (แม้จะมีดี)
ขณะใด เป็นกุศลขณะนั้น เป็นความดี ขณะใดเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นความไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ศึกษาธรรมะหรือไม่ หากยังเป็นปุถุชน ย่อมมีทั้งความดี และความไม่ดี ดังนั้นจึงไม่มีคนดี คนไม่ดี มีเพียงความดีหรือความไม่ดีที่เกิดขึ้นทำกิจในแต่ละขณะสั้นๆ และอาจเกิดดับสลับกันไปมา ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการศึกษาธรรม จึงไม่ใช่เพื่อให้เราได้ชื่อว่าเป็นคนดี (เพราะเป็นผู้ศึกษาธรรมะ) แต่มีประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ความดีคืออะไร ความไม่ดีคืออะไร และจะดับความไม่ดีได้อย่างไร เมื่อมีความเข้าใจถูกเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นเหตุให้มีความดีเกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นไปตามความมั่นคงของความเข้าใจ