สัตว์บนสวรรค์
ได้ยินว่ามีสัตว์ เช่น มังกร กิเลน หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ อาศัยอยู่บนสวรรค์ตามการบอกเล่าสืบต่อกันมาของชาวจีน ไม่ทราบว่าเป็นความเชื่อของศาสนาพุทธลัทธิมหายานหรือไม่แต่คิดตามเหตุผลความเป็นไปได้นั้น สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน ก็ล้วนจัดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ใช่หรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีที่อาศัยอยู่บนสวรรค์ซึ่งเป็นภูมิของเทวดา และพรหม เหตุใดลัทธิมหายานจึงมีความเชื่อที่แตกต่างและสุดโต่งเช่นนี้ก็ในเมื่อเป็นศาสนาพุทธเหมือนกัน แต่ทำไมไม่มีเค้าของความจริงเหลืออยู่เลย กลับเต็มไปด้วยการส่งเสริมโลภะของผู้ที่นับถือตาม
ขอบคุณครับ
พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงแสดง เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์ทั้งหลายผู้หนาด้วยกิเลสจะเข้าถึงได้ เมื่อกาลล่วงไปของ พระศาสดาและพระอริยสาวก ปุถุชนทั้งหลาย จึงมีการบัญญัติสัทธรรมปฏิรูป (สัทธรรมเทียม) ขึ้น จึงมีคำสอนที่นอกพระธรรม นอกพระวินัย ดังที่เราได้ทราบในพระไตรปิฏกยังไม่พบข้อความกล่าวถึงสัตว์เดรัจฉานบนสวรรค์ มีข้อความ บางแห่งกล่าวถึงช้างเอราวัณบนดาวดึงส์ก็จริง แต่เป็นเทวดาแปลงเป็นช้าง ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานจริงๆ
สัตว์เดรัจฉานมีแต่ในมนุษยภูมิ ไม่มีในเทวโลกค่ะ
จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา
ต้นเหตุของนิกายมหายาน
พ.ศ. ๑๐๐ หรือพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุเมืองเวสาลี ได้แตกเป็น ๒ฝ่าย ด้วยความเห็นขัดแย้งกันในวัตถุ ๑๐ ประการ และเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงวัตถุ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์เคยห้ามไว้ แต่พระวัชชีบุตรกล่าวว่าสมควรทำได้
วัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้ คือ
๑. สิงคโลณกัปปะ พระภิกษุสั่งสมเกลือในกลักเขาเป็นต้น แล้วนำไปผสมอาหารอื่น ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งผิดพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสั่งสมของเคี้ยวของฉัน เป็นอาบัติปาจิตตีย์
๒. ทวังคุลกัปปะ ภิกษุฉันอาหารเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว ๒ องคุลีได้ ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอาหารในยามวิกาลถ้าฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๓. คามันตรกัปปะ ภิกษุฉันจากวัด แล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารก็ฉันได้อีกในเวลาเดียวกัน แม้ไม่ได้ทำวินัยกรรมมาก่อนซึ่งขัดกับพระบัญญัติที่ห้ามภิกษุฉันอดิเรกถ้าฉันต้องอาบัติปาจิตตีย์
๔. อาวาสกัปปะ อาวาสใหญ่มีสีมาใหญ่ ทำอุโบสถแยกกันได้ ในพระวินัยห้ามการทำอุโบสถแยกกัน ถ้าแยกกันเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๕. อนุมติกัปปะ ถ้ามีภิกษุที่ควรนำฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นำมาจะทำอุโบสถก่อนก็ได้ แต่พระวินัยห้ามไม่ให้กระทำเช่นนั้น
๖. อาจิณกัปปะ ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครูบาอาจารย์ แม้ประพฤติผิดก็ควร
๗. อมัตถิกกัปปะ ภิกษุฉันอาหารแล้วไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ไม่ได้แปลเป็นนมส้มไม่ควร แต่วัชชีบุตรว่าควร
๘. ชโลคิง ปาตุง เหล้าอ่อนที่ไม่ได้เป็นสุราน้ำเมาฉันได้ ซึ่งขัดพระวินัยที่ห้ามดื่มน้ำเมา
๙. อทศกัง นิสีทนัง ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
๑๐. ชาตรูปรชตัง ภิกษุรับเงินและทองก็ได้
ฝ่ายพระวัชชีบุตรเมื่อไม่ได้การอุปถัมภ์จึงเสียใจ แล้วพร้อมใจกันไปทำสังคายนาต่างหากที่เมืองปาฏลีบุตร มีผู้เข้าร่วมถึง ๑๐,๐๐๐ รูป เรียกตนเองว่า มหาสังคีติ เพราะมีพวกมาก เป็นอันว่า พุทธศาสนามหายาน เริ่มมีเค้าเกิดขึ้นในสมัยนี้เอง เพราะเหตุแห่งความขัดแย้งนี้