สมถภาวนา

 
charuntae
วันที่  4 มี.ค. 2551
หมายเลข  7694
อ่าน  4,070

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ ที่เคารพ

กระผมอยากจะทราบว่า สมถภาวนาเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาหรือไม่ครับ
ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ต้องเข้าใจก่อนครับว่า สมถภาวนาและวิปัสสนนาภาวนานั้น แยกกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้ที่อบรมสมถภาวนานั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นบาทหรือเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาได้เสมอไป หากขาดความเข้าใจ เรื่องการอบรมเจริญวิปัสสนา ผู้ที่เป็นฤาษี ดาบส ที่อบรมสมถภาวนา เขาก็อบรมได้ แต่ถามว่าสมถภาวนานั้นเป็นบาท เป็นพื้นฐานของการอบรมเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ หากไม่มีความเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญวิปัสสนาย่อมไม่ได้เลยครับ ดังนั้น สมถภาวนาที่จะเป็นบาทเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนา คือสมถภาวนานั้น เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาได้จึงเป็นบาทเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนา จึงไม่ใช่หมายความว่า ต้องอบรมสมถภาวนาก่อนจึงจะอบรมวิปัสสนาภาวนาครับ อีกนัยหนึ่ง สมถกับสมถภาวนานั้นต่างกัน สมถเป็นสภาพธรรม ที่เป็นกุศลเกิดพร้อมกับวิปัสสนาได้ ดังนั้น ขณะที่อบรมเจริญวิปัสสนา จึงมีทั้งสมถวิปัสสนาคู่กันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สมถภาวนาและวิปัสสนาเกิดพร้อมกัน เพราะแยกกันโดยสิ้นเชิงครับ สรุปคือ สมถภาวนาจะเป็นบาทเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาได้ ต้องมีความเข้าใจการอบรมเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง และก็เลือกไม่ได้ด้วยว่า จะต้องให้สมถภาวนาเกิดก่อน เป็นอนัตตาครับ ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
shumporn.t
วันที่ 4 มี.ค. 2551

สมถะ หมายถึง ความสงบจากอกุศล กุศลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะที่เมตตาเกิด ไม่ว่าจะพบกับบุคคลใด ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร โทสะหรือโลภะไม่เกิด แต่เมตตาเกิด บุคคลนั้น เมตตาเกิดบ่อยและเป็นผู้รู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต รู้ลักษณะของเมตตาว่า ต่างจากโลภะอย่างไร จึงสามารถอบรมเมตตา ซึ่งเกิดดับแต่ละขณะจิต ให้เกิดติดต่อกันได้มากขึ้น เป็นชั่วโมงเป็นวัน ซึ่งเรียกว่า สมถภาวนา ภาวนาหมายถึงการอบรมให้มากขึ้นเจริญขึ้น ดังนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ ที่จะต้องศึกษาให้ละเอียดและให้เข้าใจว่า สมถะที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 4 มี.ค. 2551

พื้นฐานของการเจริญภาวนาทั้งสอง ล้วนต้องมาจากความเข้าใจ คือปัญญา แต่ว่าก็เป็นปัญญาที่ต่างขั้น มีจุดประสงค์ วิธีปฏิบัติ และผลที่ได้จากการอบรม ทั้งที่เหมือนและต่างกัน ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาละเอียด จนสามารถมองเห็นถึงความไม่สงบของจิตในแต่ละวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากนิวรณธรรมที่กลุ้มรุมและกางกั้น ไม่ให้จิตสงบและเป็นกุศล โดยเฉพาะปัญญาที่เห็นโทษของโลภะ ที่ยินดีพอใจในอารมณ์ที่น่าปรารถนา ที่เป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ หมื่นคน แสนคน มีเพียงหนึ่งคน ที่จะสามารถอบรมไปจนถึงอุปจารสมาธิ (สมาธิที่ตั้งมั่น แนบแน่นขึ้นยิ่งกว่าขณิกสมาธิ) และพันคน หมื่นคน จากที่ได้อุปจารสมาธิแล้ว ก็มีเพียงหนึ่งคนที่จะสามารถอบรมไปจนถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต การอบรมสมถภาวนานั้น จึงเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถนำมาเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาได้โดยง่าย หากผู้นั้น ไม่มีความเข้าใจในการเจริญโดยละเอียด ไม่มีปัญญาพอ ไม่มีอัธยาศัย ไม่ใช่ติเหตุกบุคคล ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเจริญจนได้ฌานจิต แม้วิปัสสนาภาวนา ก็ในทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ ผู้ที่เป็นทวิเหตุกบุคคลก็สามารถจะอบรมเจริญ สะสมความเข้าใจทีละนิดๆ จนมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจากการเจริญวิปัสสนาได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีสมถภาวนาเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนา รวมถึงไม่สามารถบรรลุอริยสัจจธรรมในชาตินั้นได้ก็ตาม...อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 6 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ