ไม่ได้ใจดำกับน้องชาย [เรื่องพระมหาปันถกเถระ]

 
khampan.a
วันที่  10 มี.ค. 2551
หมายเลข  7816
อ่าน  1,501

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ 489

ข้อความจาก...

เรื่องพระมหาปันถกเถระ

ท่านพระมหาปันถกะนั้น ขับไล่พระจูฬปันถกะ (พระผู้เป็นน้องชาย) ผู้ไม่อาจเพื่อกระทำ (ท่อง) คาถาหนึ่ง ให้คล่องแคล่วได้โดย ๔ เดือน ออกจากวิหาร ด้วยคำว่า "เธอเป็นผู้อาภัพแม้ในพระศาสนา ทั้งเป็นผู้เสื่อมแล้วจากโภคะของคฤหัสถ์ ประโยชน์อะไรของเธอด้วยการอยู่ในวิหารนี้ เธอจงออกไปเสียจากวิหารนี้" ดังนี้แล้ว แล้วปิดประตู." ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย กรรมชื่อนี้พระมหาปันถกะ ทำได้ชะรอย (เห็นจะ) ความโกรธ ย่อมเกิดมีขึ้น แม้แก่พระขีณาสพทั้งหลาย."

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอ นั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้" จึงตรัสว่า"ภิกษุทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย แต่บุตรของเราทำกรรมนั้น เพราะความที่ตนเป็นผู้มุ่งอรรถเป็นเบื้องหน้า และเพราะเป็นผู้มุ่งธรรมเป็นเบื้องหน้า" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:- "ราคะ โทสะ มานะ และมักขะ อันผู้ใดให้ตกไปแล้ว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น เรา เรียกผู้นั้น ว่า เป็นพราหมณ์"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 10 มี.ค. 2551


แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารคฺคา เป็นต้น ความว่า กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นเหล่านั้น และมักขะ มีอันลบหลู่คุณของผู้อื่นเป็นลักษณะนี้ อันผู้ใดให้ตกไปแล้ว เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลมฉะนั้น, กิเลสเหล่านั้น ย่อมไม่ตั้ง อยู่ในจิต เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไม่ติดอยู่ที่ปลายเหล็กแหลมฉะนั้นเราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์ ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เรื่องพระมหาปันถกเถระ จบ. * * ต่อมาภายหลัง พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์พระจูฬปันถกะ จนได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ เหมือนพระมหาปันถกะ (พระผู้เป็นพี่ชาย) * *

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 มี.ค. 2551

พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง เพราะเหตุว่า เป็นผู้อบรมเจริญ จากความไม่รู้ (อวิชชา) ไปสู่วิชชา (ความรู้แจ้ง) จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 10 มี.ค. 2551

พระจูฬปันถกะ...ใช่ท่านที่ขยำผ้าจนสามารถบรรลุอรหันต์ได้ไหมครับอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 10 มี.ค. 2551

พระจูฬปันถกะ ในอดีตเคยหัวเราะเพื่อนภิกษุด้วยกัน ที่ท่องจำธรรมะไม่ได้ จึงทำให้ท่านท่องจำธรรมะไม่ได้ แต่ท่านก็เคยบำเพ็ญบารมีมานาน คนอื่นไม่สามารถรู้อัธยาศัยของท่านได้ อาศัยพระพุทธเจ้า ท่านจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 10 มี.ค. 2551
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 3 โดย ajarnkruo

พระจูฬปันถกะ...ใช่ท่านที่ขยำผ้าจนสามารถบรรลุอรหันต์ได้ไหมครับอนุโมทนาครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑-หน้าที่ 331

พระจูฬปันถกเจริญภาวนาบรรลุพระอรหัต

ฝ่ายพระจูฬปันถกนั่งแลดูพระอาทิตย์ พลางลูบผ้าท่อนนั้น บริกรรม

ว่า " รโชหรณ " รโชหรณ." เมื่อท่านลูบท่อนผ้านั้นอยู่, ท่อนผ้าได้

เศร้าหมองแล้ว. ลำดับนั้น จึงคิดว่า " ท่อนผ้านี้สะอาดแท้ๆ แต่อาศัย

อัตภาพนี้จึงละปกติเดิมเสีย กลายเป็นของเศร้าหมองอย่างนี้ไปได้, สังขาร

ทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ? (ครั้นแล้ว) เริ่มตั้งความสิ้น และความเสื่อม

เจริญวิปัสสนา.

พระศาสดาทรงทราบว่า "จิตของพระจูฬปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว"

จึงตรัสว่า " จูฬปันถก เธออย่าทำความหมายเฉพาะท่อนผ้านั้น ว่า

' เศร้าหมองแล้ว ติดธุลี; ' ก็ธุลีทั้งหลาย มีธุลีคือราคะเป็นต้น มีอยู่ใน

ภายในของเธอ, เธอจงนำ (คือกำจัด) มันออกเสีย" ดังนี้แล้ว ทรง

เปล่งพระรัศมี เป็นผู้มีพระรูป ปรากฏดุจประทับนั่งตรงหน้า ได้ทรงภาษิต

คาถาเหล่านี้ว่า

"ราคะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหา

เรียกว่า (ธุลี) ไม่: คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อ

ของราคะ; ภิกษุเหล่านั้น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว

อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

โทสะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหา

เรียกว่า (ธุลี) ไม่: คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อ

ของโทสะ; ภิกษุเหล่านั่น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว

อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี.

โมหะ ชื่อว่าธุลี, แต่เรณู (ละออง) ท่านหา

เรียกว่า (ธุลี) ไม่; คำว่า "ธุลี" นั่นเป็นชื่อ

ของโมหะ; ภิกษุเหล่านั้น ละธุลีนั่นได้ขาดแล้ว

อยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลี"

ในกาลจบคาถา พระจูฬปันถกบรรลุพระอรหัต พร้อมด้วย

ปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว. ปิฎก ๓ มาถึงแก่ท่านพร้อมกับปฏิสัมภิทา

ทีเดียว.

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 10 มี.ค. 2551


คำถามเพิ่มเติมของ ajarnkruo และ ข้อความที่ คุณแล้วเจอกัน ยกมาเพิ่มเติม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการศึกษาธรรมร่วมกันเป็นอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น... ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sam
วันที่ 12 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ