อภัพบุคคล
อภัพบุคคล คืออะไร
อภัพพบุคคล คือ บุคคลที่ไม่ควรบรรลุธรรม อธิบายว่า แม้จะฟังพระธรรมมากสักเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ รายละเอียดขอเชิญอ่านจากข้อความที่ยกมา
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๐๗๒
[๒๘๒] อภัพพสัตว์เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือ กรรม กิเลส วิบาก เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย เหล่านี้เป็นอภัพพสัตว์. พึงทราบวินิจฉัยในภัพพาภัพพนิทเทส ดังต่อไปนี้. พระสารีบุตรเถระเพื่อแสดงสิ่งที่ควรทั้งก่อนแล้วแสดงสิ่งที่ควรถือเอาในภายหลังจึงแสดงอภัพพสัตว์ก่อน นอกลำดับแห่งอุทเทส. แต่ในอุทเทส ท่านประกอบ ภัพพ ศัพท์ก่อน ด้วยสามารถลักษณะนิบาตเบื้องต้นแห่งบทที่น่านับถือและบทมีอักขระอ่อนในทวันทวสมาส.
[๒๘๒ - ๒๘๓ ] บทว่า กมฺมาวรเณน ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือกรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง. ชื่อว่า สุมนฺนาคตา ประกอบแล้ว คือมีความพร้อมแล้ว. บทว่า กิเลสาวรเณน ด้วยธรรมอันเป็นเครื่องกั้น คือ กิเลส ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ. ทั้งสองบทนี้ ชื่อว่า อาวรณะ เพราะกั้นสวรรค์และมรรค. แม้กรรมมีการประทุษร้ายภิกษุณี เป็นต้น ท่านก็สงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือกรรมนั่นแหละ. บทว่า วิปากาวรเณน ด้วยธรรมเป็นเครื่องกั้น คือวิบากได้แก่ อเหตุกปฏิสนธิ. เพราะการแทงตลอดอริยมรรค ย่อมไม่มีแม้แก่ทุเหตุกะ. ฉะนั้น พึงทราบว่า แม้ปฏิสนธิเป็นทุเหตุกะ ก็เป็นธรรม เครื่องกั้น คือวิบากนั่นแหละ. บทว่า อสฺสทฺธา เป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ ไม่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า อจฺฉนฺทิกา ไม่มีฉันทะ คือไม่มีฉันทะในกุศล คือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ. พวกมนุษย์แคว้นอุตตรกุรุเข้าไปสู่ฐานะไม่มีความพอใจ. บทว่า ทุปฺปญฺญา มีปัญญาทราม คือเสื่อมจากภวังคปัญญา.อนึ่ง แม้เมื่อภวังคปัญญาบริบูรณ์ ภวังค์ของผู้ใด ยังไม่เป็นบาทของโลกุตระ แม้ผู้นั้นก็ยังชื่อว่าเป็นผู้ปัญญาอ่อนอยู่นั่นแหละ. บทว่า อภพฺพา นิยามํ โอกฺกมิตุ กุสเลสุ ธมฺเมสุ สมฺมตฺตํ-ไม่อาจย่างเข้าสู่สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ไม่ย่างเข้าสู่อริยมรรค กล่าวคือ สัมมัตตนิยามในกุศลธรรมทั้งหลาย. เพราะอริยมรรคเป็นสภาวะโดยชอบ จึงชื่อว่า สัมมัตตะ. อริยมรรคนั้นแหละเป็นสัมมัตตะในการให้ผลในลำดับ. หรือว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะมีปัญญาทราม ไม่อาจย่าง คือเข้าไปสู่สัมมัตตนิยามนั้น เพราะตนเองเป็นผู้ไม่หวั่นเอง. บทมีอาทิว่า น กมฺมาวรเณน พึงทราบโดยตรงกันข้ามกับบทดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. จบ อรรถกถาอาสยานุสยญาณนิทเทส
ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำให้เกิดเป็นมนุษย์ บ้าใบ้ บอด หนวก
หรือพิการตั้งแต่กำเนิด ก็เป็นอภัพบุคคลค่ะ
มีคำถามจากข้อความในพระสูตรดังนี้ค่ะ...
๑. ภวังคปัญญา หมายถึง ติเหตุกบุคคลใช่มั้ยค่ะ
๒. กรุณาขยายข้อความนี้เพิ่มเติมค่ะ "แม้เมื่อภวังคปัญญาบริบูรณ์ ภวังค์ของผู้ใด ยังไม่เป็นบาทของโลกุตระ แม้ผู้นั้นก็ยังชื่อว่าเป็นผู้ปัญญาอ่อนอยู่นั่นแหละ." หมายถึงปุถุชนใช่มั้ยค่ะ (และรวมไปถึงผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณด้วยใช่มั้ยค่ะ)
ขอบพระคุณค่ะ