ชนผู้ถึงฝั่งมีประมาณน้อย

 
Idoitforyou
วันที่  15 มี.ค. 2551
หมายเลข  7911
อ่าน  1,681

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 284

๑๐. บรรดามนุษย์ ชนผู้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ฝ่ายประชานอกนี้เลาะไปตามตลิ่งอย่างเดียว ก็ชน เหล่าใดแล ประพฤติสมควรแก่ธรรมในธรรมที่เรา กล่าวชอบแล้ว ชนเหล่านั้นล่วงบ่วงมารที่ข้ามได้ยาก อย่างเอกแล้วจักถึงฝั่ง

๑๑. บัณฑิตละธรรมดำแล้ว ออกจากอาลัย อาศัยธรรม อันหาอาลัยมิได้แล้ว ควรเจริญธรรมขาว ละกามทั้งหลายแล้ว หมดความกังวล พึงปรารถนา ความยินดียิ่งในวิเวก อันเป็นที่ซึ่งประชายินดีได้ยาก บัณฑิตควรทำตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมอง ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้ว โดยชอบ ในองค์ธรรม แห่งความตรัสรู้ (และ) ชนเหล่าใดไม่ถือมั่น ยินดีในการละ เลิกความถือมั่น ชนเหล่านั้น ฯ เป็นพระขีณาสพ รุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 มี.ค. 2551

พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก อันเป็นที่ซึ่งประชายินดีได้ยาก จากข้อความข้างต้น ขอเรียนถามว่า ความยินดียิ่งในวิเวกนั้น ได้แก่ ธรรมะอะไรที่ประชายินดีได้ยากครับ

...อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 15 มี.ค. 2551

ถามอย่างนี้ จะทำให้เกิด กาเลน ธมฺมสากจฺฉา ที่ในมงคลสูตร บอกว่าเป็นอุดมมงคล นะครับ ขอเชิญครับท่านทั้งหลาย ผมจะคอยฟัง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 15 มี.ค. 2551

คนส่วนมากชอบคลุกคลี่ด้วยหมู่คณะ ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ คือไม่ยินดีในธรรมะที่ สันโดษ มักน้อย ความวิเวกหมายถึงความสงบ วิเวกมี 2 อย่าง กายวิเวก และจิตวิเวก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 มี.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 1 โดย ajarnkruoพึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก อันเป็นที่ซึ่งประชายินดีได้ยาก จากข้อความข้างต้น ขอเรียนถามว่า ความยินดียิ่งในวิเวกนั้น ได้แก่ ธรรมะอะไรที่ประชายินดีได้ยากครับ

...อนุโมทนาครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


ยินดียิ่งในวิเวกหมายถึงพระนิพพานครับ ซึ่งเหล่าสัตว์ย่อมยินดีได้ยากเพราะไม่สามารถประจักษ์พระนิพพานได้ นอกจากพระอริยบุคคล ประชาหรือเหล่าสัตว์จึงยินดีได้ยากครับ ดังข้อความในอรรถกถา

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 361

แก้อรรถ

บาทพระคาถาว่า ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย ความว่า พึงปรารถนา ความยินดียิ่งในวิเวก ที่นับว่าเป็นธรรมอันไม่มีอาลัย คือพระนิพพาน ซึ่งสัตว์เหล่านั้นอภิรมย์ได้โดยยาก.

และคำว่าวิเวกมีหลายความหมาย อันรวมถึงพระนิพพานด้วครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎก

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 621

จริงอยู่ วิเวกมี ๓ คือ กายวิเวก ๑ จิตตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก (สงัดจากกิเลส) ๑. ผู้มีกายตั้งอยู่ในความสงัด ยินดีในเนกขัมมะชื่อว่า กายวิเวก. ผู้ ขวนขวายในอธิจิต ชื่อว่า จิตตวิเวก. บุคคลผู้ไม่มีอุปธิ ปราศจากเครื่องปรุงแต่ง หรือน้อมไปในนิพพานกล่าวคือ ความวิเวกอันเป็นเครื่องนำออกไป ชื่อว่า อุปธิวิเวก. ความจริง วิเวกมี ๕ อย่าง คือ วิกขัมภนวิเวก ๑ ตทังควิเวก ๑ สมุจเฉทวิเวก ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวก ๑ นิสสรณวิเวก ๑.

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 781

วิเวก ๕ คือ วิกขัมภนวิเวก ตทังควิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก วิเวกในการข่มนิวรณ์ของภิกษุผู้เจริญปฐมฌาน ๑ วิเวก ในการละทิฏฐิด้วยองค์นั้นๆ ของภิกษุผู้เจริญสมาธิมีส่วนในการทำลายกิเลส ๑ สมุจเฉทวิเวก ของภิกษุผู้เจริญโลกุตรมรรคอันให้ถึงความสิ้นไป ๑ ปฏิปัสสัทธิวิเวกในขณะผล ๑ นิสสรณวิเวกเป็นที่ดับ คือ นิพพาน ๑ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 16 มี.ค. 2551

ที่นี่ น่ารื่นรมย์ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prissna
วันที่ 16 มี.ค. 2551

พระธรรมวินัยลึกซึ้ง.....หากขาดกัลยาณมิตร จะเข้าใจได้อย่างไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ