มิได้เป็นผู้ก้มหน้าฉัน [สูจิมุขีสูตร]

 
khampan.a
วันที่  15 มี.ค. 2551
หมายเลข  7918
อ่าน  3,121

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 551 ข้อความจาก...

สูจิมุขีสูตร

(ว่าด้วยความแตกต่างการเลี้ยงชีวิตของสมณพราหมณ์)

สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยัง กรุงราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาต ตามลำดับตรอกในกรุงราชคฤห์ แล้วอาศัยเชิงฝาแห่งหนึ่ง ฉันบิณฑบาตนั้น ครั้งนั้น นางปริพาชิกาชื่อสูจิมุขี เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า "ดูก่อนสมณะ ท่านก้มหน้าฉันหรือ?" ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "ดูก่อนน้องหญิง เรามิได้ก้มหน้าฉัน" นางสูจิมุขี ถามว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉันหรือสมณะ ?" ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า "เรามิได้แหงนหน้าฉันหรอกน้องหญิง" นางสูจิมุขี ถามว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศใหญ่ฉันหรือสมณะ ?" ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า "เรามิได้มองดูทิศใหญ่ฉันหรอกน้องหญิง" นางสูจิมุขี ถามว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านมองดูทิศน้อยฉันหรือสมณะ?" ท่านพระสารีบุตร ตอบว่า "เรามิได้มองดูทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง" นางสูจิมุขี ถามว่า ... ก็บัดนี้ ท่านฉันอย่างไรเล่าสมณะ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2551

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "ดูก่อนน้องหญิง ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่า ก้มหน้าฉัน, ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิต ด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตร สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่า แหงนหน้าฉัน, ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิต ด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ประกอบการรับส่งข่าวสาส์น สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่า มองดูทิศใหญ่ฉัน, ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลี้ยงชีวิต ด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองค์อวัยวะ สมณพราหมณ์เหล่านี้ เรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน, ดูก่อนน้องหญิง ส่วน เรานั้นมิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาตรวจพื้นที่ มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉาน- วิชา คือ วิชาดูดาวนักษัตร มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ประกอบการรับส่ง ข่าวสาส์น มิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ อันได้แก่ดิรัจฉานวิชา คือ วิชาทายองคอวัยวะ (แต่) เราแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้วจึงฉัน.

ครั้งนั้น นางสูจิมุขีปริพาชิกา เข้าไปในกรุงราชคฤห์ จากถนนหนึ่งไปอีกถนนหนึ่ง จากตรอกหนึ่งไปอีกตรอกหนึ่ง แล้วประกาศอย่างนี้ว่า ท่านสมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉัน อาหารอันประกอบด้วยธรรม สมณศากยบุตรทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้ ขอเชิญท่านทั้งหลายถวายบิณฑบาตแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด"

จบสูจิมุขีสูตร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 มี.ค. 2551

เพศบรรพชิต เป็นเพศของผู้ที่มุ่งที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เพราะเป็นผู้เว้นทั่ว อย่างยิ่ง คือ เว้นจากกองโภคสมบัติทั้งหลาย เว้นจากญาติสนิทมิตรสหาย เป็นผู้สละ อาคารบ้านเรือนมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต จึงแสดงให้เห็นถึงสัจจะ คือ ความจริงใจของผู้ที่จะ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปในภาวะของการเป็นบรรพชิต การดำรงชีวิตของบรรพชิตจึงเป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ได้แสวงหาวิธีการ ดำรงชีวิตในทางที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากว่าเป็นผู้ที่มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล- ธรรมประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบิณฑบาตนั้น เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย โดยการเที่ยวไปตามลำดับตรอก ซึ่งเป็นการแสวงหาภิกษาโดยชอบธรรม
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornpaon
วันที่ 15 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 15 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เป็นสูตรที่ดีมาก ทำให้เข้าใจในเรื่องการเลี้ยงชีวิตอันจะได้มาซึ่งปัจจัยด้วยวิธีต่างๆ กัน

ด้วยความชอบธรรมและไม่ชอบธรรมครับ ท่านพระสารีบุตร ท่านแสวงหาอาหารโดยชอบธรรม ไม่ใช่ใช้วิธีการต่างๆ ที่ไม่สมควรกับพระภิกษุเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยต่างๆ อันไม่ใช่การแสวงหาโดยชอบธรรมครับ ขอยกข้อความเกี่ยวกับ การฉันหรือบริโภคต่างๆ กันว่ามีอะไรบ้าง ใครบริโภคแบบไหน อย่างไรครับ การบริโภค มี 4 อย่างพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 168

ข้อความบางตอนจาก..

อังคุลิมาลสูตร

การบริโภค ๔ อย่าง คือ เถยยบริโภค ๑ อิณบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑

สามิบริโภค ๑. ในบรรดาบริโภค ๔ อย่างนั้น การบริโภคของผู้ทุศีล ชื่อว่า

เถยยบริโภค. ก็ผู้ทุศีลนั้นขโมยปัจจัย ๔ บริโภค. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้

ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบริโภคก้อนข้าวของชาวเมือง

ด้วยความเป็นขโมย ดังนี้ . ส่วนการไม่พิจารณาแล้วบริโภคของท่านผู้มีศีล

ชื่อว่า อิณบริโภค (เป็นหนี้บริโภค) การบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก

ชื่อว่า ทายัชชบริโภค (บริโภคโดยเป็นทายาท) . การบริโภคของพระขีณาสพ

ชื่อว่า สามิบริโภค (บริโภคโดยความเป็นเจ้าของ) .

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 16 มี.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 16 มี.ค. 2551

เรียนถาม คุณ Khampan.A ว่า เหตุใด นางปริพาชิกา ชื่อ สูจิมุขี จึงถามท่านพระสารีบุตรอย่างนั้นครับ นางมีจุดประสงค์เพื่อจะเชิดชูพระพุทธศาสนา หรือนางมีความสงสัยเคลือบแคลงในการเลี้ยงชีพของผู้ครองเพศบรรพชิต หรือว่าอื่นๆ ครับ...อนุโมทนาครับ

เรียนถามคุณ แล้วเจอกัน ว่า พระเสขะ ๗ จำพวก ได้แก่อะไรบ้าง และเหตุใดการบริโภคของพระอรหันต์จึงเป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ มีนัยที่ลึกซึ้งแฝงไว้อย่างไรครับ...อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
อิสระ
วันที่ 16 มี.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2551

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 553

ข้อความตอนหนึ่งจาก...

อรรถกถาสูจิมุขีสูตร

นางสูจิมุขีปริพาชิกานั้น เห็นพระพระสารีบุตรเถระมีรูปสวย น่าดู มีผิวพรรณงดงาม ดังทองคำ ชวนให้เกิดความเลื่อมใสตลอดเวลา จึงเข้าไปหาด้วยคิดว่า "เราจักทำการ ร่าเริงกับพระเถระนี้". คราทีนั้นเมื่อพระเถระปฏิเสธคำพูดนั้น นางจึงสำคัญอยู่ว่า บัดนี้ เราจักโต้วาทะกับพระเถระนั้น จึงกล่าวว่า "สมณะ ถ้าอย่างนั้น ท่านก็แหงนหน้าฉัน

(แหงนหน้าหากิน) ละซี? ...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนท้ายของอรรถกถาแสดงไว้ ว่า นางสูจิมุขีปริพาชิกา ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระศาสนาว่าเป็นศาสนาที่นำออกจากทุกข์ได้

จากพระสูตรนี้ทำให้ได้ข้อคิดที่ดีเป็นอย่างยิ่งที่ว่า "ผู้ที่ไม่ติดในรส ย่อมบริสุทธิ์ ในการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต" ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 16 มี.ค. 2551

ขอตอบแทนค่ะ

พระเสขะ 7 จำพวกได้แก่

โสดาปัตติมรรค 1 โสดาปัตติผล 1

สกทาคามิมรรค 1 สกทาคามิผล 1

อนาคามิมรรค 1 อนาคามิผล 1

อรหัตตมรรค 1 รวมเป็น 7 ค่ะ ยกเว้นอรหัตตผลค่ะ เป็นอเสขะค่ะ

พระอรหันต์เป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว คือดับกิเลสหมดไม่เหลือ เป็นบุคคลที่คู่ควรแก่บุคคลอื่นจะ

ถวายอาหาร หรือปัจจัย 4 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 16 มี.ค. 2551

ขอเสริมความเห็นที่ 8 ถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติอาบัติปาราชิกข้อที่ 5 ก็จะทรงบัญญํติว่า

ถ้าภิกษุบริโภคอาหารแล้วไม่พิจารณา จะปรับอาบัติปาราชิก แต่ทรงเห็นว่าถ้าจะปรับอาบัติ

ปาราชิกเพราะการติดในรสก็จะไม่มีผู้ใดหลงเหลือความเป็นภิกษุอยู่เลย พระองค์จึงได้ทรง

แสดงธรรมะ เพื่อให้พระภิกษุได้พิจารณาว่าไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อประดับ เพื่อตกแต่ง เพื่อ

ความมัวเมา แต่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ประพฤติธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 16 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอเสริมความเห็นที่ 9

การบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ หรือ สามีบริโภค คือ ไม่เป็นไปด้วยอำนาจกิเลสเลย

ในการบริโภคเพราะหมดกิเลสแล้ว บุคคลที่ยังมีกิเลสเมื่อบริโภคก็ถูกกิเลสครอบงำ ก็

ไม่ชื่อว่าเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของในการบริโภค และแม้ไม่ถูกกิเลสครอบงำแต่ก็ยังมีเชื้อ

อนุสัยของกิเลส ยังไม่เป็นใหญ่ เป็นเจ้าของจริงๆ เหมือนผู้ที่ได้ดับกิเลสแล้วครับ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ - หน้าที่ 74 การบรรพชาของเราไม่ไร้ผล เพราะเราได้บรรลุพระอรหัต. เพราะเหตุนั้นแล เราจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ เพราะบริโภคด้วยสามีบริโภค บริโภคโดยความเป็นเจ้าของด้วยอำนาจความหมดกิเลส.

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 3 เม.ย. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 6 โดย ajarnkruo

เรียนถาม คุณ Khampan.A ว่า เหตุใด นางปริพาชิกา ชื่อ สูจิมุขี จึงถามท่านพระสารีบุตรอย่างนั้นครับ นางมีจุดประสงค์เพื่อจะเชิดชูพระพุทธศาสนา หรือนางมีความสงสัยเคลือบแคลงในการเลี้ยงชีพของผู้ครองเพศบรรพชิต หรือว่าอื่นๆ ครับ...อนุโมทนาครับ

เรียนถามคุณ แล้วเจอกัน ว่า พระเสขะ ๗ จำพวก ได้แก่อะไรบ้าง และเหตุใดการบริโภคของพระอรหันต์จึงเป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ มีนัยที่ลึกซึ้งแฝงไว้อย่างไรครับ...อนุโมทนาครับ


เหตุใดการบริโภคของพระอรหันต์จึงเป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ มีนัยที่ลึกซึ้งแฝงไว้อย่างไรครับ
เหตุที่การบริโภคของพระอรหันต์เป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ

นั้น เพราะ ทายกผู้แสวงหาบุญญเขต เมื่อจะถวายภิกษา ย่อมทำไว้ในใจว่า

"เราถวายภิกษาเจาะจงแก่ พระอรหันต์ ผู้ปราศจากกิเลส เป็นนาบุญของโลก"

เมื่อพระอรหันต์บริโภคภิกษาที่ทายกถวายเจาะจงท่านอยู่ ชื่อว่า

บริโภคภิกษาของตนเอง การบริโภคนั้นจึงเป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ

โดยแท้

ส่วนพระเสขะ 7 จำพวก ชื่อว่า เป็นทายาท เกี่ยวดองกับพระอรหันต์

ในทางคุณธรรม การบริโภคของท่านเหล่านั้น เสมือนเป็นการบริโภค

โดยหมู่ญาติแห่งเจ้าของภิกษานั้น

แม้ภิกษุผู้มีศีล เมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วบริโภคภิกษา ไม่บริโภค

เพื่อจะเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประดับ ไม่บริโภคเพื่อตกแต่ง

ประเทืองผิว บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อให้กายเป็นไป

เพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก คือความหิวอาหารเสีย เพื่อจะอนุเคราะห์

พรหมจรรย์ ย่อมชื่อว่า บริโภคภิกษาในฐานะทายาทลำดับสุดท้าย แห่งทานนั้น

อันทายกผู้แสวงหาบุญญเขตได้ถวายแล้ว

ส่วนภิกษุผู้มีศีล ตั้งอยู่ในความประมาท มีสติหลงลืม ยังมิได้

พิจารณาก่อน ก็บริโภคภิกษาที่ทายกถวายเจาะจงพระอรหันต์ ชื่อว่า อิณบริโภค

เป็นหนี้บริโภค เพราะมิได้ปรารภความเพียร บำเพ็ญสมณธรรม ขัดเกลากิเลส

จึงไม่อาจเงยหน้าอ้างความเกี่ยวของเป็นทายาทโดยธรรมกับพระอรหันต์ได้

ส่วนบุคคลผู้ทุศีล ไม่เป็นบรรพชิต ก็ปฏิญาณว่าเป็นบรรพชิต

แอบอ้างพระอรหันต์ บริโภคภิกษาที่ทายกถวายเจาะจงพระอรหันต์อยู่ ชื่อว่า

เถยยบริโภค ขโมยบริโภค เขาบริโภคภิกษาโดยอาการแห่งขโมยอยู่

ย่อมมีทุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแล.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
khampan.a
วันที่ 5 เม.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
devout
วันที่ 5 เม.ย. 2551

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ