วิรัติ
คำว่า วิรัติ หมายถึง การงด การเว้นจากบาป จากอกุศลกรรม เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า วิรัติมีหลายอย่าง แต่ละอย่างมีรายละเอียดอย่างไร ขอเชิญอ่านจากข้อความในอรรถกถาครับ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๗
การงดนั้นมี ๓ อย่างคือ สัมปัตตวิรัติ , สมาทานวิรัติ, เสตุฆาตวิรัติ. ในบรรดาวิรัติทั้ง ๓ นั้น ผู้ใดแม้มิได้รับสิกขาบทเลย แต่ระลึกถึงชาติ โคตร ตระกูลและประเทศ เป็นต้น ของตนอย่างเดียวว่า การกระทำนี้ไม่สมควรแก่เรา ดังนี้ แล้วไม่กระทำปาณาติบาต เป็นต้น หลีกเลี่ยงวัตถุที่มาถึงเฉพาะหน้า เว้นจากวัตถุนั้น การวิรัตินั้นของผู้นั้น พึงทราบว่า เป็นสัมปัตตวิรัติ. ส่วนวิรัติของผู้รับสิกขาบทอย่างนี้ว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตก็ดี ข้าพเจ้าจะเว้นจากปาณาติบาต ก็ดี ข้าพเจ้าขอสมาทานการงดเว้นก็ดี พึงทราบว่าเป็น สมาทานวิรัติ. ส่วนการเว้นที่สัมปยุตด้วยมรรคของพระอริยสาวกทั้งหลายชื่อว่า เสตุฆาตวิรัติ. ในวิรัติทั้ง ๓ นั้น ๒ วิรัติแรกกระทำวัตถุมีชีวิตินทรีย์ เป็นต้น ที่จะพึงละเมิดด้วยอำนาจการปลงลง เป็นต้น ไห้เป็นอารมณ์เป็นไป วิรัติหลังมีนิพพานเป็นอารมณ์. ก็ในวิรัติเหล่านี้ ผู้ได้รับสิกขาบททั้ง ๕ รวมกัน เมื่อสิกขาบทหนึ่งทำลาย สิกขาบทของผู้นั้น ย่อมทำลายไปทั้งหมด. ผู้ใดรับทีละข้อ ผู้นั้นล่วงละเมิดข้อใด ข้อนั้นเท่านั้นทำลาย. ส่วนสำหรับเสตุฆาตวิรัตินี้ ขึ้นชื่อว่า การทำลายไม่มีเลย. เพราะพระอริยสาวกย่อมไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ทั้งไม่ดื่มน้ำเมาด้วย. แม้ถ้าชนผสมสุรา และน้ำนมแล้วเทเข้าไปในปากของพระอริยสาวกนั้น น้ำนมเท่านั้นเข้าไป สุราหาเข้าไปไม่. เหมือนอะไร. ได้ยินว่า เหมือนน้ำนมที่เจือ ด้วยน้ำ นมเท่านั้นเข้าไปในปากของนกกะเรียน น้ำหาเข้าไปไม่ ข้อนี้พึงทราบว่า สำเร็จตามกำเนิดและข้อนี้ก็พึงทราบว่า สำเร็จโดยธรรมดา.