การลาสิกขา
[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 789
ถ้าว่า ภิกษุนั้น เจาะจงบอกเฉพาะแม้บุคคลสองคนในที่ที่คนสองคนยืนอยู่ว่า ข้าพเจ้าบอกแก่คนสองคนนี้ ดังนี้ บรรดาคนทั้งสองนั้น เมื่อคนหนึ่งรู้ก็ตาม รู้ทั้งสองคนก็ตาม สิกขาย่อมเป็นอันบอกลา การบอกลาสิกขาแม้ในบุคคลมากมาย บัณฑิตก็ควรทราบดังอธิบายมาแล้วนั้น
[ภิกษุตะโกนบอกลาสิกขาก็ได้]
อนึ่ง ถ้าว่าภิกษุผู้ถูกความไม่เพลินใจบีบคั้น ระแวงสงสัยภิกษุทั้งหลายผู้คุ้นเคยกันกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ ตะโกนเสียงดังด้วยหวังว่า ใครๆ จงรู้ ถ้าว่า มีคนทำงานอยู่ในป่า หรือบุรุษคนอื่นผู้รู้ลัทธิศาสนา ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลได้ยินเสียงของภิกษุนั้น ก็เข้าใจว่า สมณะผู้กระสันรูปนี้ ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์เคลื่อนจากศาสนาแล้ว ดังนี้ สิกขาย่อมเป็นอันบอกลาแท้
แต่ว่าในขณะนั้นนั่นเอง การบอกลาสิกขาไม่ก่อนไม่หลัง เป็นข้อที่รู้ได้ยาก เหมือนเหล่ามนุษย์ในโลก โดยปกติธรรมดา ฟังคำพูดแล้ว ย่อมรู้ได้ฉันใด,ถ้าว่าคนที่ทำงานอยู่ในป่าเป็นต้นนั้น ย่อมรู้ได้โดยสมัยที่คิดนึกอยู่ไซร้ สิกขาก็ย่อมเป็นอันบอกลาแล้ว ฉันนั้น ถ้าในกาลภายหลังเขาสงสัยอยู่ว่า ภิกษุรูปนี้ พูดอะไร คิดนานๆ จึงเข้าใจ สิกขาย่อมไม่เป็นอันบอกลา จริงอยู่ การบอกลาสิกขานี้ด้วย อภูตาโรจนสิกขาบท ทุฏฐุลวาจสิกขาบท อัตตกามสิกขาบท ทุฏฐโทสสิกขาบท และภูตาโรจนสิกขาบททั้งหลาย ที่จะกล่าวต่อไปด้วยมีกำหนดความอย่างเดียวกัน ย่อมถึงที่สุด ในเมื่อผู้ฟังรู้ใจความได้ โดยสมัยที่นึกคิดนั่นเอง เมื่อคนฟังสงสัยอยู่ว่า ภิกษุรูปนี้ พูดอะไร คิดนานๆ จึงเข้าใจความได้ สิกขาบททั้ง ๕ นั้น ยังไม่ถึงที่สุด