คิลานสูตร - คนไข้ ๓ จำพวก - ๐๕ เม.ย. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 เม.ย. 2551
หมายเลข  8111
อ่าน  4,929

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๕ เม.ย. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๒. คิลานสูตร

ว่าด้วยคนไข้และผู้เปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 70


[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 70

๒. คิลานสูตร

ว่าด้วยคนไข้และผู้เปรียบด้วยคนไข้ ๓ จำพวก

[๔๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ ประเภทนี้ มีอยู่ในโลก คนไข้๓ ประเภทคืออะไรบ้าง คือ คนไข้บางประเภทในโลกนี้ จะได้อาหารที่เหมาะหรือไม่ได้อาหารที่เหมาะก็ตาม ได้ยาที่เหมาะหรือไม่ได้ยาที่เหมาะก็ตาม ได้คนพยาบาลที่สมควรหรือไม่ได้คนพยาบาลที่สมควรก็ตาม ก็คงไม่หายจากอาพาธนั้น

คนไข้บางประเภทในโลกนี้ จะได้อาหารที่เหมาะหรือไม่ได้อาหารที่เหมาะก็ตาม ได้ยาที่เหมาะหรือไม่ได้ยาที่เหมาะก็ตาม ได้คนพยาบาลที่สมควรหรือไม่ได้คนพยาบาลที่สมควรก็ตาม ก็คงหายจากอาพาธนั้น

คนไข้บางประเภทในโลกนี้ ได้อาหารที่เหมาะ ได้ยาที่เหมาะ ได้คน พยาบาลที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น ไม่ได้อาหารที่เหมาะ ... ยาที่เหมาะ ... คนพยาบาลที่สมควร ย่อมไม่หายจากอาพาธนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในคนไข้ ๓ ประเภทนั้น คนไข้ประเภทที่ได้ อาหารที่เหมาะ ได้ยาที่เหมาะ ได้คนพยาบาลที่สมควร จึงหายจากอาพาธนั้น ไม่ได้อาหารที่เหมาะ ... ยาที่เหมาะ ... คนพยาบาลที่สมควร ย่อมไม่หายจาก อาพาธนั้น เราอาศัยคนไข้ประเภทนี้แล จึงอนุญาตคิลานภัต (อาหารคนไข้) ... คิลานเภสัช (ยาแก้ไข้) ... คิลานุปัฏฐาก (ผู้พยาบาลคนไข้) แลก็เพราะ อาศัยคนไข้ประเภทนี้ คนไข้ประเภทอื่นๆ ก็จำต้องพยาบาลด้วย นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ ๓ ประเภท มีอยู่ในโลก

ฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยคนไข้ ๓ ประเภทนี้ มีอยู่ในโลก บุคคล ๓ ไหนบ้าง คือบุคคลบางคนในโลกนี้ จะได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วหรือไม่ได้ ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ก็คงไม่เข้าทางคือความถูกทำนองใน กุศลธรรมทั้งหลาย *

บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นตถาคตหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตามก็คงเข้าทาง ... ได้

บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วจึงเข้าทาง ... ไม่ได้เห็น ... ไม่ได้ฟัง ... ย่อมไม่เข้าทาง ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น บุคคลประเภทที่ได้เห็นตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงเข้าทาง ... ไม่ได้เห็น ... ไม่ได้ฟัง ... ย่อมไม่เข้าทาง ... นั้นใด เราอาศัยบุคคลประเภทนี้จึงอำนวยการแสดงธรรม แลก็เพราะอาศัยบุคคลประเภทนี้ จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยคนไข้ ๓ ประเภท มีอยู่ในโลก.

จบคิลานสูตรที่ ๓


อรรถกถาคิลานสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในคิลานสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า สปฺปายานิ ได้แก่ เป็นประโยชน์เกื้อกูล คือทำความเจริญให้สูงขึ้นไป. บทว่า ปฏิรูป แปลว่า สมควร. ด้วยบทว่า เนว วุฏฺาติตมฺหา อาพาธา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึง คนไข้ ที่เข้าขั้นตรีทูตแล้ว ประกอบด้วยโรคลม และโรคลมบ้าหมูเป็นต้น ที่รักษาไม่ได้. ด้วยบทว่า วุฏฺาติ ตมฺหาอาพาธา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอาพาธเล็กๆ น้อยๆ แยกประเภทเป็น โรคอาเจียน หิตด้าน และไข้เปลี่ยนฤดูเป็นต้น.

ก็ด้วยบทว่า ลภนฺโต สปฺปายานิ โภชนานิ โน อลภนฺโต นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงอาพาธทุกชนิดที่จะหายได้ด้วยการรักษา. ก็ในสูตรนี้ ที่ชื่อว่า อุปัฏฐาก (ผู้พยาบาล) ที่เหมาะสมนั้น พึงทราบว่า ได้แก่ผู้ที่ฉลาด ขยัน ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยองค์คุณของผู้พยาบาลไข้.

บทว่า คิลานุปฏฺาโก อนุญฺาโต ได้แก่ คิลานุปัฏฐากที่ทรงอนุญาตไว้ว่า ภิกษุสงฆ์พึงให้. อธิบายว่า เมื่อภิกษุไข้นั้นไม่สามารถจะพยาบาลตามธรรมดาของตนได้ ภิกษุสงฆ์ต้องมอบหมายภิกษุรูปหนึ่งและสามเณรรูปหนึ่ง ให้แก่เธอว่า จงปฏิบัติภิกษุนี้. ก็ตลอดเวลาที่ภิกษุและสามเณรผู้อุปัฏฐากทั้งสองนั้น ปฏิบัติภิกษุไข้นั้นอยู่ ภิกษุไข้ก็ดี ผู้ปฏิบัติทั้งสองนั้นก็ดี มีความต้องการสิ่งใด สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นภาระของภิกษุสงฆ์ทั้งนั้น.

บทว่า อญฺเปิ คิลานา อุปฏฺาตพฺพา ความว่า ผู้ป่วยไข้แม้นอกนี้สงฆ์ก็ควรอุปัฏฐาก. ถามว่า เพราะเหตุไร. แก้ว่า เพราะผู้ที่อาพาธถึงขั้นตรีทูตเมื่อสงฆ์ไม่อุปัฏฐากจะทำความขุ่นเคืองใจว่า ถ้าหากภิกษุทั้งหลายพยาบาลเราก็จักหาย แต่ภิกษุทั้งหลายไม่พยาบาลเราเลย แล้วจะพึงไปเกิดในอบาย.แต่เมื่อสงฆ์พยาบาลอยู่ เธอจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุสงฆ์ได้กระทำกรรมที่ควรทำแล้ว แต่อาพาธเช่นนี้เป็นกรรมวิบากของเราเอง เธอจะเจริญเมตตาไปในภิกษุสงฆ์ แล้วจักเกิดในสวรรค์. ส่วนภิกษุใดประกอบด้วยอาพาธเล็กน้อย ถึงจะได้อุปัฏฐากก็หายไม่ได้ก็หายทั้งนั้น อาพาธของภิกษุนั้น แม้จะเว้นจากยาก็หายได้ แต่เมื่อปรุงยาถวายจะหายได้เร็วกว่า. ต่อจากนั้น เธอก็สามารถจะเรียนพระพุทธพจน์ หรือบำเพ็ญสมณธรรมได้ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า แม้ภิกษุผู้อาพาธเหล่าอื่น สงฆ์ก็ควรอุปัฏฐาก.

บทว่า เนว โอกฺกมติ ได้แก่ไม่เข้าไปสู่ทาง (ไม่ถูกทาง) . บทว่า นิยามํกุสเลสุ ธมฺเมสุ สมฺมตฺต ได้แก่ความถูกกล่าว คือ ถูกครรลองในกุศลธรรมทั้งหลาย (ถูกต้องทำนองคลองธรรม) . ด้วยบทนี้ เป็นอันตรัสหมายถึง บุคคลผู้เป็นปทปรมะ. โดยวาะที่ ๒ ทรงหมายเอา อุคฆฏิตัญญูบุคคล เช่นพระนาลก-เถระในพระศาสนา ได้รับโอวาทในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเพียงครั้งเดียว ก็ได้แทงตลอดปัจเจกโพธิญาณทันทีในพุทธันดร. โดยวาระที่ ๓ตรัสหมายถึง วิปจิตัญญูบุคคล. ส่วนเนยยบุคคลก็ต้องอาศัยนัยนั่นแหละ (จึงจะได้ตรัสรู้) .

บทว่า ธมฺมเทสนา อนุญฺาตา ได้แก่ธรรมกถาที่ทรงอนุญาตไว้เดือนละ ๘ ครั้ง. บทว่า อญฺเสมฺปิ ธมฺโม เทเสตพฺโพ ความว่า พระธรรมที่จะพึงตรัสแก่บุคคลแม้นอกนี้. เพราะเหตุไร. เพราะว่าปทปรมบุคคล ถึงจะไม่สามารถบรรลุธรรมในอัตภาพนี้ได้ แต่ก็จักได้เป็นปัจจัยในอนาคต. ส่วนผู้ใดเมื่อได้เห็นพระรูป พระโฉม ของพระตถาคตเจ้า จึงได้บรรลุก็ดี เมื่อไม่ได้เห็นก็ได้บรรลุก็ดี อนึ่ง เมื่อได้ฟังพระธรรมวินัย จึงได้บรรลุก็ดี ไม่ได้ฟังก็ได้บรรลุ

ก็ดี บุคคลนั้นจะได้บรรลุทั้งๆ ที่ ไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง. แต่เมื่อได้เห็น เมื่อได้ฟังก็จักได้บรรลุเร็วขึ้น ด้วยเหตุดังว่ามานี้ จึงควรแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น.ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๓ (ปทปรมะ) จำต้องแสดงธรรมซ้ำๆ ซากๆ .

จบคิลานสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
spob
วันที่ 11 เม.ย. 2551

๒. ฏีกาคิลานสูตร

ในคิลานสูตรที่ ๒ มีอธิบายดังนี้

ประโยชน์เกื้อกูล คือ ความเจริญ

กระทำความเจริญ คือ การสร้างความเจริญมีความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นต้นฯ

คำว่า สมควร คือ สมควรแก่การพยาบาล

คำศัพท์ว่า วาตาปมารโรเคน ให้แยกออกเป็น วาตโรเคน จ อปมารโรเคน จ แปลว่า ด้วยโรคลมและโรคลมบ้าหมู (เป็นทวันทสมาส) ฯ อีกอย่างหนึ่ง ให้แปลว่า ด้วยโรคลมบ้าหมู ที่มีลมเป็นเหตุฯ

ผู้ป่วยขั้นสุดท้าย (ในอรรถกถาฉบับแปลท่านแปลว่า "ถึงขั้นตรีทูต") ได้แก่ เป็นผู้ป่วยถึงขั้นสุดท้ายว่า "อีกไม่นานทีเดียว จักต้องตายด้วยโรคนี้" ฯ (หรืออีกอย่างหนึ่ง แปลว่า เป็นผู้ป่วยที่ทำใจได้ว่า "อีกไม่นานฯปฯ โรคนี้")

โรคอาเจียน ชื่อว่า โรคขิปิตกะ

โรคกัจฉุ ได้แก่ โรคหิดอย่างหนา (หรือที่ท่านแปลไว้ในอรรถกถาว่า หิดด้าน)

โรคเกิดจากสัมผัสแต่ลมที่แปรปรวน ชื่อว่าโรคติณปุปผกชร (ไข้หวัด, โรคแพ้อากาศ)

บทว่า เยสํ โยค โรคานํ แปลว่า (ด้วยการรักษา) โรคเหล่าใด

ด้วยการรักษา ได้แก่ แค่เพียงการทำคืน (คือรักษาให้หายเป็นปกติดุจดังเดิม)

ความผาสุก คือ ภาวะที่สบายกาย เพราะโรคได้สงบลง (หายป่วย) ฯ

ผู้พยาบาล ต้องเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เพราะทราบเหตุและสมุฏฐานของโรค, ขยัน เพราะเป็นผู้หมั่นตรวจรักษา, ไม่เกียจคร้าน เพราะเพียบพร้อมด้วยขวนขวายและพยายามพยาบาลดูแลฯ

ตรัสปทปรมบุคคล เพราะเป็นผู้ไม่ควรสำหรับการหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม ฯ

เมื่อไม่ได้ เพื่ออันฟังซึ่งธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศ ชื่อว่า ย่อมหยั่งลง สู่ปัจเจกโพธิญาณ อันเป็นทางที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลายฯ

บทว่า ยํ แก้เป็น ยโต แปลว่า เพราะเหตุที่,

ได้โอวาท ได้แก่ ได้เพียงโอวาทคืออภิสมาจาริกวัตร (คือ วัตรแห่งภิกษุผู้ประพฤติเพื่อความประพฤติอันงดงาม) ฯ เพราะโอวาทแม้เพียงนี้ ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับเธอนั่นเทียวฯ

อาศัยผู้นั้นนั่นแหละ คือ ย่อมเป็นผู้อาศัยวิปัญจิตัญญูนั่นแหละ

ปทปรมบุคคลนั้น พระองค์ยังต้องแสดงซ้ำๆ ซากๆ อยู่นั่นเอง เพราะจะได้เป็นผู้ควรเพื่อการก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามฯ

จบ ฏีกาคิลานสูตร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 11 เม.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
opanayigo
วันที่ 24 เม.ย. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ