ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า ย่อมคิด คือว่า ย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์?
จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส และจิตกระทบสัมผัส เป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้งห้า ส่วนความคิดเป็นจิตที่คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ใช่ไหมครับ แต่คำตอบจากคำถามที่แล้วตอบว่า ลักษณะที่คิดหรือจะเป็นเจตสิกไม่ใช่จิต ยังค่อนข้างสับสนครับ กรุณาอธิบายอีกครั้ง ขอบคุณมากครับ (เรื่องจำพอจะเข้าใจได้ว่าเป็นสัญญาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง)
ในบางครั้งการกล่าวถึงคำที่ใช้เป็นที่เข้าใจกันโดยรวมว่า สภาพที่คิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ หรือการรู้อารมณ์ทางใจ คือ จิต หรือ วิถีจิตทางมโนทวาร คำอธิบายดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงความต่างของสภาพรู้ทางปัญจทวารและมโนทวาร ว่ามีอารมณ์ต่างกัน แต่ถ้ากล่าวถึงลักษณะของนามธรรมประเภทต่างๆ เช่น จิต เจตสิก มีการรู้ที่แตกต่างกัน คือ จิต ๘๙ มีลักษณะเดียว คือรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกมีการรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ผัสสะมีลักษณะกระทบ สัญญามีลักษณะจำ วิตกมีลักษณะตรึกหรือคิด เป็นต้น
ความคิด เช่น คิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นคน ความคิดเช่นนี้เป็นสภาพรู้ทางมโนทวารซึ่งเป็นจิตที่คิดใช่ไหมและการตรึกหมายความว่าอย่างไร
การรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นคนเป็นสัตว์สิ่งของต่างๆ เป็นวิถีจิตทางมโนทวารที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และคำที่เรียกชื่อต่างๆ ในขณะที่คิดมีทั้งจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน เราก็เรียกว่าจิตคิด เหมือนกับขณะที่โกรธ เราก็ว่าจิตโกรธ ความจริงเมื่อกล่าวอย่างละเอียดแล้วจิตไม่ได้โกรธ โกรธเป็นเจตสิก ฉันใด ความคิดก็เช่นกันเป็นเจตสิกที่คิด สภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก