จิตที่กระทำกรรมใดๆ ไม่ใช่วิบากจิต
ขณะที่กำลังพูด เดิน ยกมือ เคลื่อนไหวทำกิจการงานใดๆ นั้น
ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรสรู้โผฏฐัพพะ แต่เป็นชวนวิถีซึ่งเป็นปัจจัยให้รูปเคลื่อนไหวไปด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ฉะนั้น จิตที่กระทำกรรมใดๆ จึงไม่ใช่วิบากจิต ขณะที่บริโภคอาหาร จิตที่เห็นเป็นวิบากจิต จิตที่พอใจในอาหารที่เห็นเป็นโลภมูลจิต จิตที่ลิ้มรสเปรี้ยวหรือหวานเป็นวิบากจิต จิตที่ทำให้รูปเคลื่อนไหวไปตักอาหาร หรือ เคี้ยวกลืนด้วยความพอใจนั้น เป็นโลภมูลจิต
สติ สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตแต่ละประเภทได้ตามความเป็นจริง ฉะนั้น จึงไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริง จึงจะละโลภะได้ ตั้งแต่เกิดมาก็มีปัจจัยทำให้โลภะเกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน ขณะที่ประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ในวันหนึ่งๆ นั้น โลภะเกิดมากทีเดียว แต่กุศลจิตก็มีปัจจัยที่จะเกิดได้เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลจิต ในขณะที่รับประทานอาหาร เมื่อโลภชวนวิถีเกิดแล้วดับไป ชวนวิถีวาระหลังจากนั้นเป็นกุศลโดยระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในอาหารขณะนั้นก็ได้ หรือสติอาจจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวหรือรสเปรี้ยว หวาน เค็มที่ปรากฏก็ได้
การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้รู้สภาพของจิตได้ แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทำใดๆ ทางกาย ทางวาจาเลย เช่นสติสามารถระลึกรู้ว่าจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เป็นต้น
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป