ศึกษาธรรมะเบื้องต้น

 
natpe
วันที่  20 ก.พ. 2549
หมายเลข  832
อ่าน  6,439

สวัสดีครับ

เมื่อเราต้องการศึกษาธรรมะ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในธรรมะก่อนใช่ไหมครับ ผมได้ฟังธรรมะแต่ผมก็ยังไม่เข้าใจว่า ธรรมะคืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 21 ก.พ. 2549

ความหมายคำว่า "ธัมมะ" ในพระไตรปิฎก ท่านให้ความหมายหลายอย่าง ดังที่เคยนำหลักฐานมาอธิบายในกระทู้ ความหมายของธรรมะ เช่น หมายถึงสภาวธรรมปริยัติ ปกติ และบุญ เป็นต้น ความหมายที่ครอบคุมสิ่งทั้งปวงที่มีจริง คือสภาวะ หรือสภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงและปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ เป็นธัมมะ อย่างหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าเราต้องศึกษาพระปริยัติ สัทธรรม ที่พระพุทธองค์แสดงตลอด ๔๕ พรรษาก็จริง แต่พระธรรมทั้งหมดก็แสดงเพื่อให้รู้ในสิ่งที่มีจริงในทุกๆ ขณะนี้เอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
natpe
วันที่ 21 ก.พ. 2549

แสดงว่า ความโกรธ ความรู้สึก กลิ่น แสง ภาพ ทั้งหมดนี้คือธรรมะใช่ไหมครับ แล้วร่างกายของคนเราใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 22 ก.พ. 2549

ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธัมมะทั้งหมด โดยปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพานมีจริง ไม่ใช่อัตตา เรา เขา สัตว์ สิ่งของใดๆ เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kanwan
วันที่ 22 ก.พ. 2549

การศึกษาธรรมะเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมะ แปลว่า สิ่งที่มีจริง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ทุกทุกวันนี้เราก็เจอกับธรรมะอยู่แล้ว ธรรมมะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ รูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรม คือ สิ่งที่ไม่มีสัมผัสรู้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ส่วนนามธรรมก็จะตรงข้ามกัน คือ นามธรรมมีสัมผัสรู้ เช่น จิต แต่คน นี้จะแบ่งได้ทั้งรูปและนาม เช่น กายเป็นรูป จิตเป็นนาม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kchat
วันที่ 22 ก.พ. 2549

ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น รูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ส่วนนามธรรมเป็นสภาพรู้ คือ จิตและเจตสิก ร่างกายของคนเราที่ยังมีชีวิต ประกอบด้วยนามธรรมและรูปธรรม คือ จิต เจตสิก และรูปที่มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natpe
วันที่ 12 มี.ค. 2549

แล้วพระภิกษุที่ออกธุดงค์ในป่า ท่านมีวัตถุประสงค์อะไรเหรอครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
study
วันที่ 13 มี.ค. 2549

ในธุดงควัตรของพระภิกษุมีข้อหนึ่งว่า อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นปกติ คือ พระภิกษุท่านสละอาคารบ้านเรือนไม่มีเรือน เป็นผู้มีอัธอาศัยขัดเกลากิเลส มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ยินดีในที่สงัดไม่คุลกคลีด้วยหมู่คณะเป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
natpe
วันที่ 15 มี.ค. 2549

ประโยชน์จากการรู้ว่าเป็นธรรมะคืออะไรครับ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
study
วันที่ 15 มี.ค. 2549

ประโยชน์จากการรู้ว่าเป็น ธัมมะ คือ การเข้าใจความจริงในสิ่งที่กำลังปรากฏผู้ที่เข้าใจในความจริง ย่อมเป็นผู้ไม่หลงเข้าใจผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไม่หลงย่อมไม่ติดข้อง เมื่อไม่ติดข้องย่อมหลุดพ้น การหลุดพ้นมีหลายระดับ เช่น พ้นชั่วขณะหนึ่งๆ พ้นแบบข่มไว้ หรือพ้นแบบสมุทเฉท การเข้าใจความจริงในชีวิตประจำวัน ทำให้คลายความไม่รู้ คลายความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natpe
วันที่ 30 มี.ค. 2549

แสดงว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมะเบื้องต้นควรจะมีความเข้าใจในเรื่องของปรมัตธรรมก่อนใช่ไหมครับ ที่จะศึกษา อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท ฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
study
วันที่ 30 มี.ค. 2549

การศึกษาปรมัตถธรรมจะทำให้เข้าใจอริสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาท ชัดเจนยิ่งขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
natpe
วันที่ 2 เม.ย. 2549

การใช้ชีวิตในปัจจุบันควรทำความดีให้มากที่สุดและฟังพระธรรมใช่ไหมครับ การที่เราจะหลุดพ้นยากไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2549

การฟังธรรม ศึกษาธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจธรรมที่ละเอียด จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น เรื่องที่เราจะหลุดพ้นนั้น เป็นปัญญาขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งกิเลสมีมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ การฟังธรรมทุกครั้งก็เพื่อให้เกิดความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญา และจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2549

พุทธศาสนานิกควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2549

จุดประสงค์ของการเจริญกุศล (การทำความดี) ในพระพุทธศาสนานั้น เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะมีกิเลสมากจึงทำทุจริต ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เบียดเบียนกัน ทุกคนคงไม่อยากเป็นอย่างนั้น คงไม่อยากให้กิเลสของตนเองแรงถึงขั้นกระทำกรรมเช่นนั้นลงไปถ้าไม่เจริญกุศล กิเลสก็มีแต่จะหนาขึ้นทุกวัน เห็นสิ่งที่สวยก็ชอบ ได้ยินเสียงที่ดีก็พอใจ เท่าไหร่ก็ไม่พอ มีแต่ความปรารถนา มีแต่ความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่เจริญกุศลก็จะมีแต่เพิ่มกิเลสและสะสมอกุศลมากขึ้น ในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาดูว่าอกุศลมากหรือกุศลมาก ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะเจริญกุศลทางใด ก็ไม่ควรให้โอกาสนั้นผ่านไป เพราะเมื่อกุศลไม่เกิด อกุศลก็เกิด ฉะนั้น ผู้ที่เห็นภัยของอกุศลจึงเจริญกุศลเพื่อละอกุศลให้เบาบางลง จะด้วยการเจริญกุศลทางหนึ่งทางใดก็ตาม

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
rrebs10576
วันที่ 5 เม.ย. 2549

เมื่อเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าธรรมะคืออะไร ก็ต้องเข้าใจรูป นาม เพื่อดิฉันจะได้ทราบว่าแยกรูป นาม ถูกต้องหรือไม่นะคะ รูป ไม่สามารถรู้หรือคิดอะไรได้ ไม่ใช่สภาพรู้ มีหรือไม่มีลักษณะก็ได้ มีจริงชั่วขณะปรากฏ เมื่อดับแล้วก็ไม่มี เช่น เสียง เกิด ดับ เพราะเหตุปัจจัย บังคับไม่ได้ เช่นวันหนี่งๆ ไม่สามารถกำหนดหรือบังคับ การเห็น การได้ยินได้ ได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ให้ลองคิด เหนียว เป็นรูป หรือ นาม ดิฉันเข้าใจว่าเป็นรูป เพราะไม่สามารถรู้หรือคิดอะไรได้ ทำนองเดียวกับ เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว นาม ต้องรู้สิ่งหนี่งสิ่งใดโดยอาศัยจิต เป็นสภาพรู้กระทบกับทวาร ๖ ทางใดทางหนื่ง เป็นอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ไม่มีลักษณะใดๆ มีจริงชั่วขณะปรากฏ เกิด ดับ เพราะเหตุปัจจัย เช่น การรู้สึก การกระทบสัมผัส การรู้ความหมาย การนึกคิด การได้กลิ่น การลิ้มรส การเห็น การได้ยิน รู้เสียง รู้กลิ่น รู้เย็น รู้อ่อน รู้ตึงไหว เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
prachern.s
วันที่ 5 เม.ย. 2549

ถูกต้องครับ แต่ว่ารูปแม้ไม่มีจิตเจตสิกไปรู้สภาพของรูปก็เป็นรูป คือไม่รู้อะไร และมีจริง เช่น รูปที่เกิดที่ใต้แผ่นดินใต้มหาสมุทร ไม่มีใครรู้ว่ามีรูปอะไรเกิดดับ แต่รูปเมื่อมีปัจจัยก็เกิด

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
rrebs10576
วันที่ 5 เม.ย. 2549

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
prapas.p
วันที่ 6 ก.ค. 2549

การฟังดี โดยเคารพน้อมนำพระธรรมมาไตร่ตรองคิดนึกด้วยเหตุผล มีการสนทนาสอบถามท่านผู้รู้ธรรม โดยเคารพในธรรม เป็นเหตุให้ ปัญญาขั้นสัจจญาณ (ปัญญาขั้นไตร่ตรองคิดนึกที่เป็นเหตุให้กิจญาณเกิดขึ้น) เพราะกิจญาณ (สติปัฏฐาน) จะไม่เกิดเองโดยยังไม่มีการฟังธรรมโดยเคารพหรือสมควรแก่ธรรม เมื่อมีเหตุสมควรแก่ผล สติปัฏฐานก็ย่อมค่อยๆ เกิดระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เคยไตร่ตรอง คิดนึก จากการฟังธรรมขั้นสัจจญาณ โดยไม่ได้มาจากความต้องการที่ไร้เหตุผล

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
prapas.p
วันที่ 6 ก.ค. 2549

เมื่อสติปัฏฐานเกิด หมายถึง สติทำหน้าที่ไม่หลงลืม ไม่ใช่ขั้นคิดนึกไตร่ตรองเหมือนขณะที่ฟังหรือนำมาคิด เช่น ความเหนียว เราคิดได้ว่าเป็นรูปเพราะคิดไตร่ตรองว่า มันไม่ได้รู้สึกนึกคิด คือไม่รู้อารมณ์ แต่เมื่อสติเริ่มเกิด ระลึกที่ลักษณะของธรรมะ (เหนียว) ที่ปรากฏที่กายชั่วขณะเล็กน้อยนั้น เป็นเพียงธรรมะที่ปรากฏเท่านั้น (ธรรมะไม่ใช่ตัวตนไม่ไช่สิ่งของ หรือ คิดคำว่าเหนียวเป็นรูปไม่รู้อารมณ์) แต่เป็นการที่สติปัฏฐานกำลังอบรมศึกษา เมื่อรูปใด นามใดกำลังปรากฏ ค่อยๆ ระลึกรู้ตามสภาพของรูปธรรม หรือนามธรรมตามความเป็นจริง ตามเป็นจริงคือเป็นเพียงธรรม ไม่ได้ไปเปลี่ยนสภาพของธรรม สภาพเหนียว เมื่อระลึกได้ก็ปรากฏอย่างนั้น ไม่ต้องท่องก็เหนียวอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกเป็นคำก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์อยู่แล้ว ปัญญาในกิจญาณในขณะนั้นกำลังทำหน้าที่ตามกำลังปัญญาในสัจจญาณตามที่ได้ฟังมา และตามที่เริ่มระลึกศึกษาได้และเมื่อฟังดี การฟังก็เจริญ เป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ (สติปัฏฐานเจริญ)

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
lovedhamma
วันที่ 23 ก.ค. 2554

ธรรมะ คือ ความจริงของชีวิต ในความเป็นจริงแล้ว แม้ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นบนโลก นี้แต่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นยังคงมีอยู่เสมอ และพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้สอนเรื่องอื่นเลย นอกจาก "ความจริง" นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ