พุทธศาสนามีความลึกซึ้งในเรื่องจิต
แต่วิทยาศาสตร์มีความลึกซึ้งด้านวัตถุ
จะทำให้ทั้งสองอย่างดำเนินไปเพื่อประโยชน์กับมนุษย์ชาติ ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุธรรมได้อย่างไร พุทธศาสนาบอกว่าไม่มีตัวตนไม่ควรไปยึดถือ แต่มนุษย์ก็ไม่อาจที่จะหลุดพ้นจากความรู้สึกรับรู้ทั้ง ๖ ได้โดยง่าย วิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ยากของมนุษย์ได้มากมาย แม้จะมีผลลบข้างเคียงบ้างก็ตาม พุทธศาสนาก็สามารถแก้ความทุกข์ทางใจได้ ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินไปอย่างไรได้บ้าง ในฐานะที่มนุษย์ยังต้องดำเนินเผ่าพันธ์และมีชีวิตอยู่ต่อไป
การศึกษาศาสตร์ความรู้ใดก็ตาม ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดเพราะมีการวิจารณ์วิทยาศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนามาก แต่ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ที่ยังโน้มไปทางวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะขาดความเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าถึงแก่นจริงๆ ของคำสอนซึ่งมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุนี้ ก่อนที่เราจะเปรียบเทียบสิ่งใด จึงควรศึกษาให้เกิดความรู้ในสิ่งที่จะเปรียบนั้นด้วยความละเอียด ชัดเจน ตรง และเป็นประโยชน์จริงๆ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจความจริงอันเกิดจากปัญญา ไม่ใช่เพียงขั้นคิดนึก ดังเช่น วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจความจริงว่า มนุษย์เกิดมาได้อย่างไร ทำไมถึงมีกาย แม้จะดับทุกข์กายบางอย่างได้ แต่ก็ไม่สามารถดับความเกิดขึ้นของกายและจิตอีกต่อไปได้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่าทุกอย่างย่อมมีเหตุ และอะไรคือเหตุ และอะไรเป็นตัวดับเหตุเหล่านั้น วิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจว่าทุกข์จริงๆ คืออะไร ไม่ใช่ทุกข์กายเท่านั้น หากแต่ว่าที่มีกายเพราะมีการเกิด ที่เกิดเพราะมีกิเลส ดับกิเลสจึงไม่เกิด พระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนที่เกิดจากการตรัสรู้ความจริง แต่วิทยาศาสตร์เกิดจากคิดนึกตามเหตุผลแต่ไม่เข้าใจถึงสัจจะความจริง
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
นักวิทยาศาสตร์เป็นการค้นพบด้วยวิธีทดลองต่างๆ ของคนที่ยังมีกิเลส ช่วยบรรเทาความทุกข์ได้ชั่วคราว หรือแค่ชาติเดียว ต่างกับปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้เพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แล้วไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก เป็นการดับทุกข์ที่แท้จริงค่ะ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นเคยสั่งสมบุญมาในอดีตหรือไม่ ในพระไตรปิฏกมีแสดงไว้ว่า พระธรรมเปรียบเหมือนของมีค่า คือแก้ว แหวน เงิน ทอง ที่วางไว้หน้าประตูบ้านแล้วแต่ใครจะออกมารับค่ะ
สิ่งใดที่เสพแล้ว ทำให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม สิ่งนั้นควรเสพ
สิ่งใดที่เสพแล้ว ทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ สิ่งนั้นไม่ควรเสพ
และสัมมาทิฏฐิ คือ สิ่งที่ควรอบรมให้มีมากที่สุด
ความตั้งใจจริงของกระทู้นี้มิได้มีจุดประสงค์จะให้เปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา และมิได้มีจุดประสงค์ให้โจมตีมองในแง่ลบของอีกฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีข้อดีต่อการดำรงค์ชีวิตของมนุษยชาติ แต่อยากจะให้มองกันในแง่ดีว่าทั้งสองฝ่ายจะประสานประโยชน์กันได้อย่างไร ในฐานะทีเราและคนรุ่นต่อๆ ไปจะได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่โจมตีวิทยาศาสตร์ อย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง การที่คุณสามารถมาโพสความเห็นอยู่ในกระทู้นี้ได้ ได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นทางธรรมไม่ใช่ความเจริญทางวิทยาศาสตร์หรอกหรือ
ส่วนเรื่องธรรมมะคนเราก็จะขาดไปมิได้ มิฉะนั้นเราก็ไม่สามารถค้นหาความจริงและตัวตนที่แท้จริงของเราได้ ทั้งสองสถาบันต่างก็มีประโยชน์ต่อมนุษยโลกพอกันอยากจะให้ช่วยกันแสดงความเห็นว่าทั้งสองจะประสานประโยชน์กันได้อย่างไร
ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วเกิดความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงจะประสานการดำรงชีวิตโดยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่จะรวมไปถึงการที่จะประสานการดำรงชีวิตโดยความรู้ของทุกๆ ศาสตร์ตามที่ได้ศึกษามาเช่นกัน ลองสังเกตดูผู้ที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาสิครับ แต่ละท่านมาจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งหมอ วิศวกร สถาปนิก แอร์โฮสเตต อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ ดอกเตอร์ พ่อค้า แม่ค้า พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ
ศาสตร์ทางโลก เราศึกษาเพื่ออะไร ไม่พ้นเพื่อการยังชีพ และเพื่อความอยู่รอดแต่ความอยู่รอดนั้น บางครั้งก็เป็นไปด้วยการกระทำอกุศลกรรม เหตุนี้ ความเข้าใจในพระธรรม ย่อมเกื้อกูลให้การยังชีพด้วยความรู้เฉพาะด้านของตนนั้นไม่เป็นไปในทางที่จะเบียดเบียนประโยชน์จริงๆ ของทั้งตนเองและผู้อื่น และเจริญประโยชน์นั้นให้ไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืน
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงปฏิเสธความรู้ที่จะเป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลก แต่ทรงแสดงความจริงเพื่อให้ชาวโลกได้พิจารณาความถูกต้องในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่ นักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณธรรมก็ย่อมเป็นที่สรรเสริญใช่ไหมครับ? เพราะฉะนั้น ประสานได้แน่ แต่ควรศึกษาพระพุทธศาสนาครับ
ขอบคุณเวปไซด์บ้านธัมมะนี้ ที่ทำให้ผมได้สนทนากับ กัลยาณมิตรทางธรรมและสัตบุรุษผู้แสวงธรรม
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เกิดอกุศลจิต ทรงแนะนำสิ่งที่ไม่มีโทษ อกุศลจิตเกิดจากความประมาท ความไม่รู้ว่าอะไรคือคุณ อะไรคือโทษทรงสอนให้อยู่กับความจริง เข้าใจความจริง ซื่อสัตย์ต่อความจริง ความอยากแม้อยากให้คนศึกษาธรรมะมากๆ ก็ไม่ใช่จะเป็นไปได้ด้วยความอยาก ดังนั้น ใช้ชีวิตไปตามปกติ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดและไม่ทิ้งพระธรรม (คำสอนทั้งหมดอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วแต่คุณจะสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ)